ข่าวเรื่องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในอ่างเก็บน้ำ เราได้ยินกันมาปีกว่าแล้ว
ผมเองก็เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงหนังสือพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคม 2562 โดยผมเชียร์ให้ทำเต็มที่เลยครับ เพราะการศึกษาของธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงแดดผ่านโซลาร์เซลล์ลอยน้ำมีต้นทุนต่ำและเป็นพลังงานที่สะอาดด้วย กว่า 30 ประเทศทั่วโลกลงทุนในด้านนี้แล้ว และมีแนวโน้มว่าจะลงทุนเพิ่มขึ้นอีกต่อไป
เมื่อปีที่แล้ว ผมอ้างอิงรายงานของธนาคารโลกเกี่ยวกับตัวเลขค่าลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในโครงการต่างๆ ทั่วโลกว่า การติดตั้งมีต้นทุนประมาณ 1 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 30 บาทต่อวัตต์ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำมีต้นทุน (levelized cost) ประมาณ 6 เซนต์ต่อหน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) หรือ 1.80 บาทต่อหน่วย
ถ้าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยเป็น 1.80 บาทต่อหน่วย ก็ต้องถือว่าเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำและต่ำกว่าราคาที่ กฟผ. ขายส่งให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (ปัจจุบันอยู่ที่ 2.50 บาทถึง 3 บาทต่อหน่วย)
สำหรับโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำระบบแรกที่ กฟผ. จะติดตั้งที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งว่ากันว่าเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น กฟผ. ได้ตั้งวงเงินลงทุนไว้ 2,266 ล้านบาท คิดเฉลี่ยเป็นวัตต์ละประมาณ 50 บาท
ปรากฏว่าเมื่อมีการประมูลประกวดราคาจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโครงการ โดยมีผู้เสนอราคาประมูลที่ผ่านทางเทคนิคทั้งหมด 21 ราย กฟผ. ได้เลือกกลุ่มบริษัท บี กริม พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาประมูลต่ำสุด และได้ลงนามในข้อตกลงว่าจ้างไปเมื่อเดือนมกราคม 2563 เรียบร้อยแล้ว
ที่น่าตั้งข้อสังเกตคือราคาค่าจ้างที่ตกลงกันเป็นจำนวนเงิน 842 ล้านบาท คิดเฉลี่ยเป็นวัตต์ละไม่ถึง 20 บาท ยังน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของวงเงินงบประมาณที่ กฟผ. ได้ตั้งไว้ตอนเริ่มประมูล
เงินลงทุนที่ลดลงหมายถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ลดลงด้วย ผมได้ลองคำนวณดูโดยใช้เงินลงทุน 842 ล้านบาท ติดตั้งระบบที่มีขนาดการผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ โดยสมมติให้มีอายุโครงการ 25 ปี ผลิตไฟได้วันละ 4 ชั่วโมง สมมติให้มีค่าบำรุงรักษาปีละ 0.1% ของเงินลงทุนและเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี และใช้อัตราดอกเบี้ย 8% ต่อปี
ปรากฏว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าคำนวณแบบ levelized cost ตกหน่วยละ 1.22 บาท หรือประมาณหน่วยละไม่ถึง 5 เซนต์สหรัฐฯ ….. ยิ่งถูกกว่าที่ กฟผ. คาดไว้ตอนเริ่มประมูล และต่ำกว่าที่ธนาคารโลกคาดไว้โดยอาศัยข้อมูลการลงทุนของประเทศต่างๆในอดีต
จริงๆแล้ว ด้วยต้นทุนหน่วยละ 1.22 บาท โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำนี้สามารถแข่งขันได้กับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงด้วยซ้ำไป แต่ก็จะมีคนค้านว่าโซลาร์เซลล์ผลิตไฟได้เฉพาะช่วงที่มีแดดเท่านั้น จึงใช้เป็นโรงไฟฟ้าแบบ firm หรือแบบbase load (คือเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง) ไม่ได้เหมือนโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ
แต่ผมอยากจะเสนอว่า ถ้าเราเพิ่มระบบกักเก็บพลังงานให้ใช้ร่วมกับโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำนี้ ซึ่งอาจจะเป็นระบบพลังน้ำแบบสูบกลับ (pumped hydro storage) เช่นเดียวกับที่ลำตะคอง หรือหากภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยก็อาจจะใช้แบตเตอรี่ก็ได้ ก็จะทำให้โครงการนี้มีการจ่ายไฟฟ้าในลักษณะที่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าแบบ base load ได้ คือผลิตไฟได้เป็นจำนวนมากในช่วงที่มีแดดและเก็บส่วนเกินไว้ในระบบกักเก็บพลังงานเพื่อนำมาจำหน่ายในช่วงเย็นหรือค่ำได้
ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบกักเก็บพลังงานได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้นทุนลดลงมากแล้ว ในกรณีที่จะนำมาใช้ร่วมกับโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำนี้ ระบบกักเก็บพลังงานที่ลงทุนเพิ่มเติมน่าจะเพิ่มต้นทุนการผลิตไฟฟ้าขึ้นไปอีกประมาณ 1 ถึง 1.50 บาทต่อหน่วยไฟฟ้าเท่านั้น
เมื่อรวมระบบโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเข้ากับระบบกักเก็บพลังงานแล้ว จะทำให้มีต้นทุนรวมไม่ถึง 2.80 บาทต่อหน่วย เทียบได้และแข่งขันได้กับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่สะอาดกว่า สร้างได้เสร็จเร็วกว่า และแบ่งขนาดทะยอยสร้างไปเรื่อยๆ ก็ได้ ไม่ต้องลงทุนทีเดียวใช้เงินมากมาย
คงมีคนค้านอีกว่าโครงการโซลาร์เซลล์ต้องใช้แผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์อื่นๆที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เสียเงินตราต่างประเทศ แต่โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ต้องใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่นำเข้าเป็นส่วนมากเช่นกัน โดยอาจมีสัดส่วนการนำเข้าที่น้อยกว่าเท่านั้น
แต่เมื่อพิจารณาด้านเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าแล้ว พูดได้เลยว่าโครงการโซลาร์เซลล์ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงเลย ใช้แต่แสงแดดซึ่งได้มาฟรีๆ จึงไม่มีความเสี่ยงทั้งในด้านราคาและปริมาณตลอดอายุโครงการ 20-30 ปี เราจึงมั่นใจได้ว่าต้นทุนการผลิตและราคาค่าไฟฟ้าจะคงที่ไปตลอดอายุโครงการเพราะเรารู้ต้นทุนรวมทั้งหมดตั้งแต่เริ่มโครงการแล้ว
ส่วนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติและสร้างขึ้นใหม่ในอนาคตนั้น สำหรับประเทศไทยเราคงต้องนำเข้าเชื้อเพลิงทั้งสองชนิดจากต่างประเทศเพื่อเอามาป้อนโรงไฟฟ้าเหล่านี้อย่างแน่นอน เพราะเราจะไม่มีปริมาณสำรองของก๊าซเหลืออยู่ในประเทศมากพอแล้ว ถ่านหินที่เรามีเหลืออยู่ในประเทศก็เป็นลิกไนต์ที่มีคุณภาพต่ำและสกปรกจนไม่สามารถนำมาใช้ได้มากกว่าที่ใช้อยู่แล้ว ความเสี่ยงของเชื้อเพลิงนำเข้าเหล่านี้จึงมีทั้งในด้านราคาและปริมาณตลอดอายุโครงการ แล้วเราจะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่าราคาไฟฟ้าจะไม่แพงขึ้นในอนาคต
ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยข่าวร้ายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในไทย ปัญหาไฟป่าในออสเตรเลีย และปัญหาโรคหวัดอู่ฮั่นในจีน การจะมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในต้นทุนที่ต่ำ และมีเสถียรภาพในการผลิตด้วยนั้น ต้องถือว่าเป็นข่าวดี สมควรให้มีการต่อยอดขยายผลต่อไปอีก เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าโลกสามารถสวยงามขึ้นได้ด้วยต้นทุนที่ไม่แพงเลย
โดย
พรายพล คุ้มทรัพย์
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/2ZbNKAY