การที่รัสเซียปฏิเสธข้อเสนอของกลุ่มโอเปกที่ให้ลดการผลิตลงอีก 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน ได้นำไปสู่จุดจบของความร่วมมือกันของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร (OPEC+) ที่ดำเนินมากมากกว่า 3 ปี และช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันในตลาดให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 60 $/bbl. มาได้โดยตลอด
เมื่อผิดหวังกับท่าทีของรัสเซีย ก็ทำให้ซาอุดีอาระเบียหันไปใช้ยุทธศาสตร์ “Shock and Awe” เพื่อบีบรัสเซียให้กลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา โดยประกาศยกเลิกเพดานการผลิตของกลุ่มโอเปกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป และร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอ่าวฯ ที่เป็นพันธมิตร ประกาศผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเต็มกำลังการผลิต รวมทั้งลดราคาน้ำมันที่ขายไปยังลูกค้าของตนในทุกภูมิภาคลงระหว่าง 4-8 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง 25-30% (12-15 4/bbl.) ภายในวันเดียว และลดลงถึง 50% จากราคาสูงสุดในเดือนมกราคมมาอยู่ที่ 31 $/bbl. เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าถ้ายังไม่มีการเจรจาเกิดขึ้น เมื่อถึงเดือนเมษายนที่ผู้ผลิตทุกรายกลับมาผลิตเต็มที่ จะมีปริมาณน้ำมันล้นตลาด (overhang) ถึง 6 ล้านบาร์เรล/วัน ก็มีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะลดลงไปอีก โดย Goldman Sachs ประเมินว่าอาจลดลงไปอยู่ที่ระดับ 20-25 $/bbl. เลยทีเดียว
มีการประเมินกันว่าราคาน้ำมันที่ลดลงมากถึง 25-30% นี้ จะทำให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปกสูญเสียรายได้มากกว่าวันละ 500 ล้านดอลลลาร์สหรัฐ (ประมาณวันละ 16,000 ล้านบาท) และแน่นอนรัสเซียย่อมสูญเสียรายได้ไปไม่น้อยเช่นเดียวกัน เพราะขณะนี้รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันใหญ่เป็นอันดับสอง และเป้นผู้ส่งออกน้ำมันมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกวันละ 11 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ตามรัสเซียออกมาประกาศว่า ด้วยสถานะทางการคลังของรัสเซียในปัจจุบัน รัสเซียสามารถอยู่ได้ภายใต้สภาวะน้ำมันราคาต่ำอย่างนี้ไปอีก 6-10 ปี ดังนั้นยุทธศาสตร์ “Shock and Awe” ของซาอุดีอาระเบียจึงยังไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
ในทางตรงกันข้าม ประเทศในกลุ่มโอเปกล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งรายได้จากน้ำมันเพื่อไปจุนเจือฐานะทางการคลัง และใช้จ่ายในงบประมาณรายจ่ายของประเทศทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ซาอุดีอาระเบีย
ข้อมูลจาก IMF, Fitch Ratings ที่สำนักข่าวรอยเตอร์รวบรวมไว้รายงานว่า ราคาน้ำมันที่จะทำให้ฐานะทางการคลังของประเทศผู้ผลิตน้ำมันแต่ละประเทศอยู่ในจุดสมดุลนั้น (Fiscal Break even Oil Price) รัสเซียต่ำที่สุดประมาณ 40 $/bbl.
ส่วนประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลางนั้นอยู่ที่ 50-60 $/bbl. ในขณะที่ของซาอุดีอาระเบียอยู่ที่ 80 $/bbl. เพราะซาอุดีอาระเบียมีงบกลาโหมสูงมาก และมีการนำงบประมาณไปใช้จ่ายในโครงการสวัสดิการต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
มองในแง่นี้ รัสเซียอาจได้เปรียบในเรื่องของความต้องการรายได้ไปใช้จ่ายเป็นงบประมาณของประเทศ แต่ถ้ามองในแง่ของต้นทุนการผลิตน้ำมันแล้ว ซาอุดีอาระเบียจะมีต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุดเพียง 9.90 $/bbl. ในขณะที่รัสเซียมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าที่ 17.20 $/bbl. ดังนั้นจึงยังไม่อาจกล่าวได้ว่าใครเป้นผู้ได้เปรียบในสงครามราคาครั้งนี้
อยูที่ว่าใครจะยืนได้นานที่สุดภายใต้ราคาน้ำมันที่ 30 $/bbl. แต่ที่แน่ ๆ รายเล็กรายน้อยคงตายกันหมด!!!.
มนูญ ศิริวรรณ
จากบทความ “พลังงานรอบทิศ” ในนสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 มี.ค. 2563
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/31jVQuk