จากที่มีการกล่าวหาประเด็น ทำไมรัฐไม่รับผลประโยชน์เป็นปิโตรเลียมโดยตรง โดยเปรียบเทียบกับระบบของพม่า ว่า…

0
458

พม่าเคยรับค่าภาคหลวงและส่วนแบ่งเป็นเงิน แต่ต่อมามีความต้องการใช้ในประเทศมากขึ้น จึงเปลี่ยนมารับเป็นปิโตรเลียมแทน (Payment in kind instead of payment in cash) ซึ่งในกรณีของพม่าก็ถูกต้อง เพราะเดิมเขาขายส่วนที่เกินความต้องการมาให้ไทย ตอนนี้ความต้องการเพิ่มขึ้น ก็อยากได้ของไปใช้เองในประเทศ

แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งมีการระบุว่ารัฐบาลควรเลือกแบบเดียวกับพม่า คือรับเป็นปิโตรเลียมจากผู้ผลิตแล้วขายตรงให้ กฟผ. ไม่ขายผ่าน ปตท. โดยอ้างว่าจะได้ราคาถูกลงเพราะไม่ผ่านคนกลาง ฟังดูเผินๆก็น่าจะดี แต่คงลืมไปว่าถ้าไม่ผ่าน ปตท. (โรงแยกก๊าซธรรมชาติ) จะไม่มีการผลิตแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) ออกมาประมาณ 50% ของความต้องการของประเทศซึ่งต้องมีการนำเข้าส่วนนี้มาทดแทน ทำให้เสียเงินตราต่างประเทศออกไปโดยเปล่าประโยชน์ ประชาชนก็ต้องจ่ายค่าแอลพีจีตามราคาตลาด 100% ในช่วงที่ราคาถูกก็ดีไป แต่ในช่วงที่ราคาแพงก็ต้องเอากองทุนฯมาอุดหนุน 80-100% ไม่เช่นนั้น ประชาชนก็ต้องรับความจริง คือจ่ายแพงขึ้นตามราคาตลาดโลก ประเทศไทยซึ่งมีความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจปิโตรเคมีจากการมีวัตถุดิบในประเทศ ก็จะสูญเสียศักยภาพเมื่อเทียบกับผู้ผลิตอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตจากประเทศตะวันออกกลาง มาเลเซีย อินเดีย และสิงคโปร์ ถ้าจะให้ กฟผ. สร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ก็เป็นการลงทุนซ้ำซ้อน เผลอๆเงินลงทุนก่อสร้างก็จะแพงกว่าที่ ปตท. ได้สร้างไปแล้ว ดังนั้น ที่คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติและก๊าซหุงต้มก็จะออกมาใกล้เคียงหรือแพงกว่าที่จะซื้อ/ขายผ่าน ปตท.

นอกจากนี้ ยังคงลืมไปอีกว่า การรับเป็นปิโตรเลียมนั้นมันมีค่าใช้จ่ายอีกมากมาย เช่น ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดิบ/ก๊าซธรรมชาติก่อนจึงจะขายได้ ค่า Floating storages ฯลฯ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้แทนที่จะแบ่งกันกับผู้ผลิต รัฐก็ต้องแบกรับภาระเองเพราะต้องมีอุปกรณ์ เครื่องไม้ เครื่องมือ บุคลากรเพิ่มเป็น 2 เท่าของที่ควรจะเป็น

ยังมีการติงว่าค่าภาคหลวงคิดจากผลผลิตรวมที่ขายได้ แทนที่จะคิดจากผลผลิตรวมที่ผลิตได้จริงๆ และค่าภาคหลวงและส่วนแบ่งนั้นให้คิดเป็นเงินบาท เลยคิดกันไปว่ารัฐไม่เคยคิดที่จะรับเป็นปิโตรเลียมตามแนวทางการแบ่งปันผลผลิต แล้วทำไมการคิดคำนวณค่าภาคหลวงและส่วนแบ่งต้องใช้มูลค่าที่ขายได้ เพราะผลผลิตรวมนั้น มีทั้งน้ำ ทั้งสิ่งปนเปื้อน ซึ่งต้องแยกออกก่อน เพื่อให้ได้คุณภาพตามข้อกำหนดในสัญญาซื้อ/ขาย จึงจะส่งมอบให้ผู้ซื้อได้ ไม่สามารถขายๆไปโดยไม่ต้องทำอะไรเลย แสดงว่าผู้กล่าวหาไม่รู้เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติในการซื้อ/ขาย นอกจากนี้ ยังไม่รู้ขั้นตอนการจัดเก็บภาษีอีกต่างหากว่าถ้าผลิตมาแล้ว แต่ยังไม่มีการขายก็ยังไม่ต้องเสียภาษี เมื่อขายออกไปรู้มูลค่าแล้ว รัฐถึงจะเก็บภาษีคำนวณจากมูลค่าที่ขาย ส่วนการที่ระบุว่ารับค่าภาคหลวงและส่วนแบ่งเป็นเงินบาทนั้น ทำให้รัฐบาลไม่ต้องรับความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และเป็นการบังคับให้ผู้ผลิตต้องเอาเงินค่าของมาแปลงค่าเป็นเงินบาทไปในตัว

และในประเด็นที่ว่าต้องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติใหม่อีกแห่งหนึ่งเพื่อเป็นเจ้าของและขายปิโตรเลียม ทั้งๆที่สิทธิในการเป็นเจ้าของนั้น รัฐก็เป็นเจ้าของอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ส่วนการจะขายแยกหรือขายรวมกับผู้ผลิตนั้น รัฐก็สามารถดำเนินการได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพิ่มขึ้นมาอีกแห่ง

ภาพจาก : offshorejob.com

ความเห็นจาก คุณจันทร เศาภายน

*บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน