การแก้ปัญหาเกษตรกร ด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ

0
367
สัปดาห์ที่แล้วผมเขียนเรื่องรัฐบาลใหม่กับนโยบายพลังงานสัปดาห์นี้ขอต่อเรื่องนโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพกับการแก้ปัญหาราคาพืชพลังงานมีราคาตกต่ำเพราะผลิตได้มากเกินไปจนล้นตลาด แต่ต้นทุนสูงสู้คู่แข่งขันไม่ได้และตลาดต่างประเทศก็หดตัวลงจึงมีแรงกดดันให้นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเพิ่มมากขึ้น

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ก็คือการนำผลปาล์มที่ได้จากเกษตรกรชาวสวนปาล์มมาบีบและกลั่นเป็นน้ำมันปาล์มดิบและนำไปผ่านกระบวนการผลิตให้เป็นไบโอดีเซล B100 เพื่อนำมาผสมในน้ำมันดีเซล 7% บ้าง 20% บ้าง ให้เป็นน้ำมันดีเซล B7 หรือ B20 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน…ปัญหาก็คือ ต้นทุนการผลิต B100 นั้นสูงกว่าราคาน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นโดยราคา B100 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. อยู่ที่ลิตรละ 19.53 บาท แต่ราคาน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 16.50 บาท ดังนั้นเมื่อเอาของแพงมาผสมในของถูกก็แน่นอนว่าราคาน้ำมันดีเซลที่ผสม B100 ต้องมีราคาแพงขึ้นยิ่งผสมมาก ราคาย่อมต้องแพงมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนนี้ผู้บริโภคก็ต้องรับภาระไป…แต่ในกรณีน้ำมันดีเซล B20 เนื่องจากรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้คนมาใช้กันมาก ๆ รัฐบาลจึงนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯ (ที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคน้ำมันชนิดอื่น ๆ เช่นเบนซิน 95 แก๊สโซฮอล์ 95/91) มาอุดหนุนถึงลิตรละ 4.50 บาท เพื่อให้ขายได้ถูกกว่าดีเซล B7 ถึงลิตรละ 5 บาท

 

ฟังดูแล้วก็เป็นนโยบายที่ดี เพราะเป็นการแก้ปัญหาผลปาล์มล้นตลาดราคาตกต่ำ ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ…แต่ที่ต้องตั้งคำถามก็คือ การแก้ปัญหานี้เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนหรือไม่ เพราะปัญหาของชาวสวนปาล์มคือ ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย และปัญหาที่ซ้ำซ้อนเข้ามาอีกคือปัญหาตลาดน้ำมันปาล์มในต่างประเทศที่มีแต่จะลดลงเรื่อย ๆ เพราะถูกอียูคว่ำบาตรเลิกใช้น้ำมันปาล์ม

 

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปาล์มกำลังเป็น Sunset Industry ซึ่งนโยบายในการแก้ปัญหาควรมุ่งไปที่การปฏิรูปการเกษตรให้มีต้นทุนที่ลดลงลดพื้นที่การเพาะปลูก ควบคุมผลผลิตไม่ให้ล้นตลาดและส่งเสริม ให้ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นทดแทน…แต่ถ้ารัฐบาล หันมาส่งเสริมให้นำผลผลิตมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้นโดยไม่มีการปฏิรูปการเกษตรและการผลิตให้ต้นทุนลดลง และมีประสิทธิภาพมากขึ้นต้นทุนที่สูงขึ้นจากความไร้ประสิทธิภาพนั้นก็จะถูกส่งผ่านมายังผู้บริโภคซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะยิ่งมีการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯมาอุดหนุน

 

นโยบายลักษณะนี้เป็นนโยบายที่เอาเปรียบผู้บริโภค เพราะรัฐบาลไม่ต้องควักเนื้อตัวเองเพียงแต่ล้วงกระเป๋าผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งไปอุดหนุนผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น จุดเสี่ยงของนโยบายแบบนี้ก็คล้าย ๆ กับนโยบายประชานิยมคือยิ่งส่งเสริมมากคนมาใช้มาก ยิ่งต้องใช้เงินอุดหนุนมากและจะเป็นภาระก้อนใหญ่ของกองทุนน้ำมันฯที่เลิกราไม่ได้ในที่สุด

 

ส่วนเกษตรกร ในเมื่อรัฐบาลเข้ามาช่วยระบายผลผลิตให้และขายได้ราคาดี (ตามนโยบายของพรรคการเมืองส่วนใหญ่) ก็จะไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ/ลดต้นทุน แม้กระทั่งลดพื้นที่การเพาะปลูก (อาจเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเสียด้วยซ้ำเพราะราคาดี) ดังนั้นจึงแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดไม่ได้
นี่แหละครับที่จะเป็นวงจรชั่วร้ายที่ต้องตามแก้กันไม่รู้จบ !!!.
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://1th.me/Lj9fD