เมื่อปลายเดือนที่แล้วคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้เห็นชอบให้ปรับอัตราเงินเพื่อจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของน้ำมันดีเซลเพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลบี 10 ให้เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศไทย ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลบี 10 ลดลง 0.50 บาทต่อลิตร ดีเซลบี 7 ปรับเพิ่มขึ้น 0.50 บาทต่อลิตร ส่วนบี 20 ราคาคงเดิม มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. เป็นต้นไป
การปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ครั้งนี้ทำให้ราคาขายปลีกดีเซลบี 10 ต่ำกว่าดีเซลบี 7 ที่ 3 บาทต่อลิตร และราคาขายปลีกดีเซลบี 20 ต่ำกว่าดีเซลบี 10 ที่ 0.50 บาทต่อลิตร โดยอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ในส่วนของดีเซลเปลี่ยนไปคือ บี 7 เดิมเก็บอยู่ 0.25 บาท ปรับเป็นเก็บ 1 บาทต่อลิตร ดีเซลบี 10 เดิมอุดหนุน 2 บาท เป็น 2.50 บาทต่อลิตร บี20 เดิมอุดหนุน 3.91 บาท ปรับเป็น 4.41 บาทต่อลิตร ผลของการปรับเปลี่ยนดังกล่าวทำให้เงินส่งเข้ากองทุนฯ ในส่วนของบัญชีน้ำมันติดลบเพิ่มขึ้นจาก -381 ล้านบาทต่อเดือน เป็น -787 ล้านบาทต่อเดือน หรืออุดหนุนเพิ่มขึ้นเท่าตัว เดือนละ 406 ล้านบาท โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมาฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิอยู่ที่ 36,076 ล้านบาท ถึงแม้ขณะนี้จะมีการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล B10 และ B20 เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2562 แต่เนื่องจากอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและบทเฉพาะกาลยังอนุญาตให้ทำได้ จึงยังไม่มีปัญหาใด ๆ กับการใช้เงินกองทุนฯ เพื่ออุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ ประกอบกับขณะนี้ประเทศกำลังประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากปัจจัยลบหลายปัจจัยโดยเฉพาะเรื่องวิกฤติไวรัส COVID-19 ซึ่งอาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้โตต่ำกว่า 1%
ดังนั้น ผมจึงใคร่เสนอแนะกระทรวงพลังงานโดย กบน. ให้ใช้เงินกองทุนฯ ที่มีฐานะเป็นบวกอยู่ให้เป็นประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพประเภทแก๊สโซฮอล์ E20 และไบโอดีเซล B10 ให้เป็นเชื้อเพลิงหลักไปพร้อม ๆ กัน โดยให้ปรับเพิ่มเงินอุดหนุนแก๊สโซฮอล์ E20 อีกลิตรละ 1 บาท และลดเงินอุดหนุนแก๊สโซฮอล์ 85 ลงลิตรละ 1 บาท เพื่อให้ส่วนต่างระหว่างน้ำมันสองชนิดนี้แคบลง และราคา E20 จะถูกกว่า E10 ลิตรละ 4 บาท ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ใช้หันมาใช้ E20 มากขึ้นตามนโยบายของกระทรวงพลังงานและลดค่าการตลาดของ E85 ที่สูงถึงลิตรละ 3 บาท กว่าลงโดยไม่ต้องขึ้นราคาน้ำมัน ส่วนน้ำมันดีเซล B10 นั้น ผมเห็นว่า กบน. ควรปรับเพิ่มเงินอุดหนุนอีกลิตรละ 50 สต. ซึ่งจะทำให้ราคาถูกลงอีก 50 สต. ลงมาเท่ากับ B20 ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ B10 ง่ายขึ้นเพราะราคาเท่ากับ B20 แล้วเหตุผลก็คือถ้ารัฐยังคงส่งเสริมการใช้ B20 ต่อไปน้ำมันปาล์มดิบที่นำมาใช้ทำไบโอดีเซลจะไม่เพียงพอ และราคาจะสูงขึ้นเป็นภาระกองทุนน้ำมันฯ ที่ต้องตามไปอุดหนุนมากขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งขายมากยิ่งต้องอุดหนุนมาก จึงควรหันมาสนับสนุนการขาย B10 ที่อุดหนุนน้อยกว่า ท่านผู้อ่านที่ติดตามผลงานผมมาโดยตลอดจะทราบดีว่าผมไม่สนับสนุนให้มีการนำเงินกองทุนฯ มาใช้อุดหนุนราคาน้ำมันโดยไม่จำเป็นแต่ครั้งนี้ผมเห็นว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจเข้าสู่กาวะวิกฤต และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดต่ำไม่น่าจะสูงเกิน 60 $/bbl. ไปจนถึงสิ้นปี อีกทั้งเงินกองทุนฯ ก็มีฐานะเป็นบวกอยู่ถึงสามหมื่นหกพันล้านจึงไม่ควรเก็บเงินไว้เฉย ๆ แต่ควรนำมาใช้ลดราคาน้ำมันในส่วนที่รัฐต้องการส่งเสริมและลดภาระประชาชนไปด้วยในเวลาเดียวกัน
รอเวลาเศรษฐกิจฟื้นแล้วค่อยกลับมาเก็บใหม่ก็ยังทันครับ!!!
มนูญ ศิริวรรณ
จากบทความ “พลังงานรอบทิศ” ในนสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 12 มี.ค. 2563
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/2A8Eh5a