เกือบทุกครั้งที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มักเป็นผลจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในตะวันออกกลาง เริ่มตั้งแต่วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรกในปี ค.ศ. 1973-74 เมื่อเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับประเทศอาหรับ ทำให้ราคาพุ่งพรวดจากไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไปเป็น 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ต่อมาในปี 1979 การปฏิวัติในอิหร่านเพื่อล้มล้างระบอบกษัตริย์ เป็นเหตุให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอีกเป็น 80 ดอลลาร์ ก่อนที่จะลดลงมาเหลือ 20-30 ดอลลาร์
สงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1990 ดันราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นอีก เป็น 60 กว่าดอลลาร์ และในปี 2003 เมื่อสหรัฐฯบุกอิรัก ได้ผลักดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นเป็น 80 ดอลลาร์อีกครั้งหนึ่ง
และล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ การโจมตีโรงงานแปรรูปน้ำมันในซาอุดิอาระเบียและความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ก็ทำให้น้ำมันในตลาดโลกแพงขึ้นเกือบถึง 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ภูมิภาคตะวันออกกลางมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อสถานการณ์น้ำมันของโลก เพราะมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณสำรองของน้ำมันทั้งหมดในโลกพบอยู่ในภูมิภาคนี้ โดยส่วนใหญ่อยู่ใน 6 ประเทศที่เป็นสมาชิกโอเปค (ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน อีรัค คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือ UAE และลิเบีย)
นอกจากนั้น ภูมิภาคตะวันออกกลางยังสามารถผลิตและส่งออกน้ำมันได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก โดยผลิตน้ำมันได้ประมาณหนึ่งในสามของโลกและส่งออกประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั่วโลก
ตะวันออกกลางยังเป็นแหล่งปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของโลกอีกด้วย คือมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยอิหร่านและกาตาร์เป็นประเทศที่มีก๊าซธรรมชาติอยู่ใต้ดินมากเป็นอันดับต้นๆของโลก
ความตึงเครียดทางการเมืองในตะวันออกกลางที่มีผลต่อตลาดน้ำมันโลก เกิดขึ้นทั้งจากการสู้รบระหว่างชาวยิวกับชาวอาหรับที่ทะเลาะกันมาตั้งแต่มีการก่อตั้งประเทศอิสราเอล และจากความขัดแย้งระหว่างแขกมุสลิมด้วยกันเอง คือระหว่างมุสลิมนิกายสุหนี่กับมุสลิมนิกายชีอะห์ นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มผู้ก่อการร้ายอิสลามชื่อแปลกๆ อีกหลายกลุ่มที่เข้าร่วมวงเป็นระยะๆ ทั้งหลายทั้งปวงนี้มีประเทศมหาอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้อง คือสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตกซึ่งเข้าไปผสมโรงถือหางอิสราเอลและซาอุดิอาระเบีย ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็มีรัสเซียเป็นสปอนเซอร์ใหญ่
ความรุนแรงในภูมิภาคนี้มีผลไม่ใช่เฉพาะต่อปริมาณการผลิตน้ำมันเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบไปถึงการขนส่งน้ำมันซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปขายนอกภูมิภาคอีกด้วย เส้นทางเดินเรือขนส่งน้ำมันที่สำคัญของภูมิภาคนี้จำเป็นต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซ (The Strait of Hormuz) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของน่านน้ำที่เชื่อมโยงอ่าวอาเรเบียกับอ่าวโอมาน โดยขนาบด้วยดินแดนบนบกของอิหร่านและโอมาน ถึงแม้ว่าช่วงที่แคบที่สุดกว้างถึง 33 กิโลเมตร แต่ร่องทางเดินเรือมีความกว้างเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น
ช่องแคบฮอร์มุซนี้มีความสำคัญต่อตลาดน้ำมันและก๊าซของโลก เพราะประมาณหนึ่งในหกของการผลิตน้ำมันในโลก (ประมาณวันละ 17 ล้านบาร์เรล) หรือครึ่งหนึ่งของการผลิตน้ำมันโดยกลุ่มประเทศโอเปค ถูกขนส่งผ่านช่องแคบนี้ โดยเกือบทั้งหมดเป็นน้ำมันที่ผลิตจากซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน UAE และคูเวต นอกจากนั้น กาตาร์ซึ่งเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยังส่ง LNG นี้ส่วนใหญ่ผ่านช่องแคบนี้อีกด้วย อิหร่านจึงมักจะใช้อิทธิพลในการควบคุมช่องแคบนี้เป็นอาวุธในการข่มขู่คู่ต่อสู้อยู่บ่อยๆ เช่น จับกุม ขัดขวาง หรือโจมตีเรือน้ำมันที่บรรทุกน้ำมันจากซาอุดิอาระเบีย และคูเวต
ดังนั้น ใครก็ตามที่ซื้อน้ำมันจากตะวันออกกลางจึงต้องเผชิญกับความเสี่ยงอันเกิดจากความผันผวนทางการเมืองในภูมิภาคนั้น โดยไม่รู้แน่ว่าวันดีคืนดีราคาน้ำมันจะผกผันขึ้นลงเท่าใด ไม่รู้แน่ว่าจะมีน้ำมันส่งมาให้พอใช้ได้ตลอดหรือไม่
โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่สหรัฐอเมริกากับอิหร่านแลกหมัดกัน โดยยิงจรวดใส่กันจนเกรงกันว่าจะลุกลามเป็นสงครามใหญ่โตและส่งผลต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันจากย่านนี้ในที่สุด
หลายประเทศต้องพึ่งพาน้ำมันนำเข้าจากตะวันออกกลาง เริ่มด้วยจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ในปี 2018 จีนนำเข้าน้ำมันทั้งหมดประมาณ 8.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 70% ของการใช้น้ำมันทั้งหมดของประเทศ ปรากฏว่าจีนต้องนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของการนำเข้าทั้งหมด โดยนำเข้าส่วนที่เหลือจากรัสเซียในสัดส่วนค่อนข้างสูง
สหรัฐฯ เคยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันมากที่สุดในโลก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ สามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันจากหินดินดานในประเทศ หรือที่เรียกว่า shale oil ทดแทนการนำเข้าจนในปี 2018 สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันโดยสุทธิแค่วันละไม่ถึง 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเมื่อปลายปีที่แล้วยังสามารถส่งออกน้ำมันโดยสุทธิได้ด้วยซ้ำ ในขณะเดียวกัน น้ำมันที่สหรัฐฯ นำเข้าจากตะวันออกกลางก็มีสัดส่วนเพียงประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ของการนำเข้าทั้งหมด กล่าวได้ว่าในขณะนี้และในอนาคต สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเลย
ในปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่เป็นที่สองของโลก โดยในปี 2018 อินเดียนำเข้าน้ำมันวันละประมาณ 5.3 ล้านบาร์เรล คิดเป็นกว่า 80% ของการใช้น้ำมันทั้งหมดในประเทศ อินเดียพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลางในสัดส่วนประมาณ 50 ถึง 60% ของการนำเข้าทั้งหมด และในระยะหลังก็มีนโยบายที่จะลดการพึ่งพานี้ โดยหันไปซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัสเซียและแอฟริกาตะวันตก
ญี่ปุ่นต้องนำเข้าน้ำมันเกือบ 100% โดยในปี 2018 ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันวันละประมาณ 3 ล้านบาร์เรล มากเป็นที่สามของโลก และในจำนวนนี้ญี่ปุ่นต้องนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางในสัดส่วนที่สูงมากถึง 90% ญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศที่ล่อแหลมต่อความไร้เสถียรภาพในตะวันออกกลางมากที่สุดประเทศหนึ่ง
สหภาพยุโรปซึ่งมีสมาชิก 28 ประเทศเป็นอีกกลุ่มประเทศหนึ่งที่ต้องนำเข้าน้ำมันเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2017 นำเข้าน้ำมันดิบรวมกันวันละ 14 ล้านบาร์เรล ทั้งกลุ่มต้องพึ่งพาน้ำมันนำเข้าในอัตราประมาณ 87% ของการใช้น้ำมันทั้งหมด และนำเข้าจากตะวันออกกลางประมาณ 40% ของการนำเข้าน้ำมันทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่าสหภาพยุโรปซื้อน้ำมันมากที่สุดจากรัสเซียโดยคิดเป็นประมาณ 30% ของการนำเข้า
ส่วนประเทศไทยในปัจจุบันนำเข้าน้ำมันเกือบวันละ 1 ล้านบาร์เรล คิดเป็นประมาณ 80% ของการใช้น้ำมันทั้งหมด ในปี 2018 เรานำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2008 เรานำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของทั้งหมด ดูเหมือนว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยได้พยายามลดสัดส่วนการพึ่งพาตะวันออกกลางลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยหันไปซื้อน้ำมันจากแหล่งใหม่ๆ มากขึ้น เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย ออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ถือเป็นเรื่องที่ดีที่เราเริ่มปรับลดความเสี่ยงจากความผันผวนในตะวันออกกลางลงไปได้ระดับหนึ่ง แต่ความเสี่ยงที่เหลือก็ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง
นอกจากน้ำมันดิบแล้ว ไทยยังต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากกาตาร์ซึ่งอยู่ในตะวันออกกลาง โดยเรามีสัญญาจะซื้อจากกาตาร์ปีละ 2 ล้านตัน (ประมาณ 5% ของความต้องการใช้ในปัจจุบัน) การขนส่ง LNG ส่วนนี้ทั้งหมดต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ทำให้มีความเสี่ยงอันเกิดจากความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับอิหร่าน
โลกคงยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซจากประเทศในตะวันออกกลางต่อไปในอนาคต และทุกครั้งที่ความขัดแย้งในภูมิภาคปะทุขึ้นมาเป็นความรุนแรง พวกเราคงต้องช่วยกันภาวนาว่าจะไม่มีผลลุกลามก่อให้เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมาย วิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงนี้ได้คือความพยายามในการใช้พลังงานให้ประหยัดที่สุด รวมทั้งการหันไปใช้พลังงานสะอาดทดแทนน้ำมันและก๊าซ ซึ่งนอกจากจะมีความผันผวนทางด้านราคาและปริมาณแล้ว ยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกทำลายสิ่งแวดล้อมโลกอีกด้วย
พรายพล คุ้มทรัพย์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์พลังงาน
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ :