การผลิตไฟฟ้าจากขยะมี 2 วิธี (1) เผาขยะ (2) เผาก๊าซจากหลุมฝังกลบขยะ #พลังงาน8บรรทัด วันนี้จะเล่าถึงวิธีแรก โดยใช้กรณีตัวอย่างของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยชื่อโรง TPIPP ดังนี้
.
1– รับซื้อขยะสดจากเทศบาลต่างๆ ผ่านผู้รับทิ้งที่ได้ค่ากำจัดขยะจากท้องถิ่น มาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงที่เรียกว่า RDF อัตราส่วนขยะสด 100 ตันเปลี่ยนเป็น RDF ได้ 25-30 ตัน
.
2– นำ RDF จาก 5 โรงแปรรูปในเครือข่าย เข้าไปเผาในเครื่องปฏิกรณ์เคมี เพื่อผลิตไฟฟ้า
.
3– ขยะเปียกที่เหลือจากการทำ RDF จะถูกส่งเข้าระบบเผาตรง (Incinerator) เพื่อผลิตไฟฟ้าเช่นกัน
.
4– โดยรวมถือว่าเป็นการผลิตไฟฟ้าจากการเผาขยะแบบ zero waste ทั้งนี้ ขยะเปียกทำปุ๋ยไม่ได้เพราะยังมีสารหนักอยู่และคุณสมบัติก็ด้อยกว่าปุ๋ยอินทรีย์ แต่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปูนได้ระดับหนึ่ง
.
5– เพื่อให้ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย โรงไฟฟ้าได้จัดสรร 30% ของเงินลงทุนเป็นค่าอุปกรณ์กำจัดมลพิษต่างๆ ถือได้ว่ามลพิษที่ออกมาสะอาดกว่าไอเสียรถยนต์มาตราฐาน Euro 4 เสียอีก เพราะรัฐกำหนดให้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะมีมาตรฐานสูงกว่าโรงงานทั่วไป
.
6– ปีหนึ่งผลิตไฟฟ้า 350วัน สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทั้งหมด
.
7– ราคาขายไฟเข้าระบบตามนโยบายส่งเสริมโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะในช่วงแรกเริ่ม คือ ไฟฟ้าฐาน 3 บาทต่อหน่วย + Adder 3.5 บาทต่อหน่วย ซึ่งหลังจากสัญญาเดิมสิ้นสุดในปี พ.ศ.2565-2568 TPIPP จะขายไฟได้ในราคาค่าไฟฐานเท่านั้น
.
8– หากโรงไฟฟ้าแห่งนี้สามารถรับขยะโดยตรงจากจุดรวมขยะของเทศบาลได้ ก็จะประหยัดงบประมาณค่ากำจัดขยะให้ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องได้ปีละ 430 ล้านบาท*
– – – – – – –
ข้อมูลน่ารู้อื่น ๆ เกี่ยวกับ TPIPP : โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณโรงปูนซีเมนต์จังหวัดสระบุรีที่อยู่ข้างทางหลวงมิตรภาพ ไกลจากชุมชน 5 กม. มีกำลังผลิตไฟฟ้า 180 MW และที่นี่ยังมีโรงแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนด้วย รับขยะสดได้วันละ 6000 ตัน
.
โครงการนี้ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 18,000 ล้าน เป็นโรงงานผลิต RDF 3,000 ล้านบาท และเป็นโรงไฟฟ้า 15,000 ล้านบาท
.
โครงการเริ่มด้วยการผลิต RDF ในปี 2551 เพื่อป้อนโรงปูน TPI ใช้ทดแทนถ่านหินได้ 15% ส่วนการผลิตไฟฟ้าเริ่มในปี 2555
.
โรงไฟฟ้าขยะเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ได้ประโยชน์สองต่อ ทั้งกำจัดขยะและสร้างพลังงาน ในประเทศไทยยังควรจะสร้างได้อีกมากมาย ..หากแก้ปัญหาผลประโยชน์ท้องถิ่นเกี่ยวกับการกำจัดขยะได้ และอาจช่วยประหยัดงบประมาณท้องถิ่นได้ปีละ 5000 ล้านบาท*
.
* สมมติฐาน: รัฐต้องเสียค่ากำจัดขยะหรือ tipping fee ตันละ 300-500 บาทในการฝังกลบ หากส่งเข้าโรงไฟฟ้าอาจจะมีค่าขนส่งประมาณ 100-300 บาท รัฐประหยัดได้ 200 บาท คิดเป็น 430 ล้านบาท/ปีสำหรับขยะที่เข้า TPIPP และ 5,000 ล้านบาทสำหรับทั้งประเทศ (ปริมาณขยะ 70,000 ตัน/วัน)
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://www.facebook.com/ERSFellowship/posts/1336173113259360