New Normal ในตลาดน้ำมันโลกหลังโควิด-19

0
357
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มฟื้นตัว โดย WTI ปรับตัวขึ้นมาอยู่ใกล้ 25 $/bbl. และ Brent ขึ้นมาอยู่ในระดับ 30 $/bbl. ได้อีกครั้ง
จากการที่ประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรป เอเชีย และแม้แต่บางมลรัฐในสหรัฐอเมริกาได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ให้ผู้คนได้ออกมาเดินทาง และธุรกิจกลับมาเปิด ดำเนินการได้อีกครั้ง ซึ่งจะนำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการน้ำมันที่สูงขึ้น
นอกจากนั้น กลุ่มโอเปกและพันธมิตร (OPEC+) ยังได้เริ่มต้นลดการผลิตอย่างจริงจังตามข้อตกลงลดการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรล/ วัน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป
อีกทั้งประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่น ๆ นอกกลุ่ม OPEC+ เช่นสหรัฐ นอร์เวย์ แคนาดา และบราซิล ฯลฯ ต่างก็ต้องลดการผลิตลงโดยสมัครใจ เพราะราคาน้ำมันที่ 20+ $/bbl. เป็นราคาที่ไม่คุ้มทุนสำหรับบริษัทเอกชนในประเทศเหล่านี้ ที่จะผลิตน้ำมันออกมาในปริมาณมาก ๆ อีกต่อไป โดยเฉพาะในสหรัฐที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่า 30 $/bbl. คาดว่าการผลิตน้ำมันจะลดลงมากถึง 1.7 ล้านบาร์เรล/ วัน ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. นี้
เราจึงเห็นราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในต้นเดือน พ.ค. เพราะนักค้าน้ำมันและผู้จัดการกองทุนต่าง ๆ ล้วนคาดหวังว่า ความต้องการน้ำมันจะสูงขึ้น ในขณะที่การจัดหาเริ่มลดลง
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครเชื่อว่าหลังโควิด-19 สถานการณ์ตลาดน้ำมันโลกจะกลับมาเหมือนเดิม คือ ความต้องการน้ำมันจะกลับไปที่ 60-70 $/bbl.
องค์การพลังงานสากล (IEA) ประเมินว่า ความต้องการน้ำมันในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาลดลงจากปี ค.ศ.2019 ประมาณ 30 ล้านบาร์เรล/ วัน เดือน พ.ค.จะลดลง 25.8 ล้านบาร์เรล/วัน และแม้กระทั่งเดือน ธ.ค. ก็จะยังคงลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล/ วัน
นักวิเคราะห์บางคนก็ประเมินว่าการที่ความต้องการน้ำมันของโลกจะกลับไปเหมือนเดิมนั้น น่าจะต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีหรือนานกว่านั้น บางคนที่มองในแง่ร้ายถึงกับบอกว่าต้องใช้เวลาหลายสิบปีไม่ใช่หลายปี และบางคนบอกว่าจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว
สาเหตุที่นักวิเคราะห์มองไปในแง่ร้ายเช่นนั้นก็มาจากเหตุผลที่ว่า ธุรกิจการบินซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโควิด-19 จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป
โดย CEO ของบริษัท Boeing คาดว่าจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศจะไม่กลับมาสู่ระดับเดียวกับปี ค.ศ.2019 จนกว่าจะผ่านไปอย่างน้อยสามปี และเมื่อการเดินทางกลับมาอีกครั้งสายการบินก็จะใช้เครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีประสิทธิภาพและประหยัดน้ำมันในการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งจะทำให้ยอดการใช้น้ำมันเครื่องบินจะไม่กลับมาสู่ระดับเดิมของปีที่แล้วจนกว่าจะถึงปี ค.ศ.2022
นอกจากนั้น การใช้ชีวิตของผู้คน (Life style) ก็จะไม่เหมือนเดิม ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงาน เราจะคุ้นเคยกับการทำงานที่บ้าน สั่งอาหารและชอปปิงออนไลน์มากขึ้น เดินทางน้อยลง ใช้การประชุมโดยระบบ teleconferencing มากขึ้น ใช้ไฟฟ้ามากขึ้นแต่ใช้น้ำมันน้อยลง

วิถีใหม่ของการดำรงชีวิตและการทำงาน (new ways of living and working) จะทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง ส่งผลให้ธุรกิจน้ำมันมีบ่อน้ำมัน เรือบรรทุกน้ำมัน และโรงกลั่นน้ำมันมากเกินไป ซึ่งจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจขนานใหญ่ เพื่อรองรับ New Normal ที่กำลังคืบคลานมา!!!

ℹ️ ที่มาบทความ คอลัมน์ “พลังงานรอบทิศ” เรื่อง “New Normal ในตลาดน้ำมันโลกหลังโควิด-19” นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2563

ℹ️ โดย มนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/2CzTFbr