มารู้จักไบโอดีเซลกันมากขึ้น อีกนิดนึงครับ

0
352
น้ำมันไบโอดีเซล หรือที่เรียกว่า B100 เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตได้จากน้ำมันพืช ไขมันสัตว์ หรือน้ำมันพืชเหลือใช้ในการปรุงอาหาร ผ่านกระบวนแปลงสภาพทางเคมีให้โมเลกุลเล็กลงและจัดรูปเรียงตัวอยู่ในรูปของเอสเทอร์ (ester) จนมีคุณสมบัติใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลได้ในหลายกรณี ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานด้วย

 

นโยบายการส่งเสริมไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ของไทยเริ่มต้นเมื่อปี 2550 ในระยะแรกภาครัฐกำหนดให้มีการผสมในอัตรา 2% เรียกว่า B2 ต่อมาในปี 2555 การผสม ไบโอดีเซลเพิ่มเป็น 5% (B5) และเพิ่มเป็น 7% (B7) ในปี 2557 รวมทั้งให้มีการทดลองสัดส่วนที่ 20% (B20) สำหรับรถบรรทุกและรถบัสขนาดใหญ่ เมื่อปี 2561 ส่งผลให้การผลิตและการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

 

ขอเสริมข้อมูลทางสถิติสักเล็กน้อยครับ ข้อมูลปี 2560 ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน 5.51 ล้านไร่ ให้ผลผลิต 4.83 ล้านตัน ผลิตเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 14.1 ล้านตัน ผลิต CPO 2.28 ล้านตัน ประมาณ 18% ของผลผลิตปาล์ม นำมาใช้ในอุตสาหกรรมไบโอดีเซล 1.14 ล้านตัน (50%) ปัจจุบันมีโรงงานผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมธุรกิจพลังงาน จำนวน 12 ราย กำลังการผลิตรวม 6.52 ล้านลิตรต่อวัน วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมาจากน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) เป็นหลักตามด้วยน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (Refined Bleached and Deodorized Palm Oil : RBD) และไขน้ำมันปาล์ม (Stearin)

 

อย่างไรก็ตาม การยอมรับของกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก ยังจำกัดเพดานการผสมไบโอดีเซลที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีดั้งเดิม (เทคโนโลยีแปลงสภาพเป็น Ester) อยู่แค่ 7% (B7) ทำให้การส่งเสริมไม่เป็นไปตามแผน ดังนั้นการจะเพิ่มสัดส่วนการใช้งานไบโอดีเซลผสมน้ำมันดีเซลจึงมีความจำเป็นต้องยกระดับคุณภาพหรือปรับปรุงคุณสมบัติของไบโอดีเซลที่ผลิตในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น

 

กระบวนการไฮโดรจีเนชันบางส่วนของไบโอดีเซล (Partially hydrogenated Fatty Acid Methyl Ester) หรือเรียกว่า “H-FAME” (เฮช-เฟม) ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาไปสู่เป้าหมายดังกล่าว เทคโนโลยี H-FAME ได้รับการพัฒนาจากโครงการวิจัยไทย-ญี่ปุ่น ได้ทำการทดสอบเชื้อเพลิง B20 ที่มีสัดส่วนผสมของไบโอดีเซลที่ได้ปรับปรุงคุณภาพด้วยเทคโนโลยี H-FAME จากน้ำมันปาล์มที่สัดส่วนร้อยละ 20 ในรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) เครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรลที่มีจำหน่ายในท้องตลาดโดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วน กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ (อีซูซุ) จนได้ข้อสรุปว่าสามารถใช้ได้กับรถยนต์ทดสอบโดยไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด
เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกระหว่างปี 2558-2579 (AEDP2015) ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทน 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศไทยในส่วนของไบโอดีเซลนั้น ได้กำหนดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซลไว้ที่ 14 ล้านลิตรต่อวัน H-FAME จึงน่าจะเป็นเทคโนโลยีทางเลือกใหม่ ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นเหนือกว่าไบโอดีเซลทั่วไป และสามารถผลิตได้จากวัตถุดิบที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองการใช้งานในอัตราส่วนผสมที่สูงขึ้นในน้ำมันดีเซล

 

ส่วนกลไกราคานั้น ใช้กลไกค้าเสรีเป็นหลัก ไม่มีการกำหนดราคาจากหน่วยงานรัฐใดๆ มีเฉพาะราคาแนะนำที่คำนวณตามสูตรแบบ Cost Plus หรือราคาที่แปรผันตามต้นทุน ซึ่งใช้ข้อมูลราคาน้ำมันปาล์มดิบจากกรมการค้าภายใน บวกราคาต้นทุนของสารเคมีที่ใช้ผสมและค่าการกลั่น ซึ่งเป็นสูตรที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้อนุมัติไว้นานแล้ว

 

โดยสรุป นโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซลเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลอัตรา 7% (B7) ในปี 2560 และอาจจะมีการปรับแผนเพิ่มส่วนผสมเป็น 10% (B10) ในอนาคต สำหรับปัจจัยความสำเร็จของอุตสาหกรรมยังต้องขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายของทางภาครัฐในการบริหารจัดการอุปสงค์-อุปทานของวัตถุดิบให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิต และระดับราคาเป้าหมายของน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ ที่ราคาวัตถุดิบปาล์มน้ำมันยังอาจถูกแทรกแซงจากทางฝ่ายการเมืองในอนาคตบ่อยครั้งขึ้น จึงอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบของธุรกิจในบางช่วงเวลาทำให้อุตสาหกรรมนี้ยังมีความเสี่ยงด้านต้นทุนการผลิตที่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้
ส่วนวิธีการที่ใช้แก้ปัญหาระยะสั้นของภาครัฐ เช่น การนำมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้า ผมคิดว่าน่าจะเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายจริงๆ และไม่ควรหยิบมาใช้บ่อยๆ ครับ…มันไม่คุ้ม

สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/38c0NXh