“ตามรอยเท้าพ่อ” โรงไฟฟ้าพลังน้ำแม่กำปอง…แสงสว่างกลางป่าใหญ่ ด้วยน้ำพระทัย ที่ทรงห่วงใยราษฎร หมู่บ้านร้อยปี “บ้านแม่กำปอง” ตั้งอยู่ในกิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งโอโซนอันดับท๊อปๆ ของประเทศ จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ถึงแม้ “บ้านแม่กำปอง” จะอยู่กลางหุบเขา ห่างไกลจากตัวเมือง แต่ชาวบ้านที่นี่ ก็แทบจะไม่มีปัญหาเรื่องไฟดับ ไฟฟ้าไม่พอใช้เลย

0
567

นับตั้งแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฏรแถบนี้ ในปี พ.ศ.2522 พระองค์ทรงเห็นว่า ชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ ยิ่งในช่วงกลางคืน ยังต้องอาศัยตะเกียงก๊าดให้แสงสว่างอยู่ ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงได้ทูลขอพระราชทานไฟฟ้าจากพระองค์ท่าน และนั่นกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นแห่งแสงสว่างกลางป่ากว้าง แม้จะเป็นเพียงแสงอันน้อยนิด แต่จุดประกายให้เกิดโครงการพัฒนาพลังน้ำหมู่บ้านชนบท จังหวัดเชียงใหม่ กรมพัฒนาพลังงานและพลังงานทดแทน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้สนับสนุนงบประมาณ ร่วมกับเงินช่วยเหลือขององค์การสหประชาชาติ ในการจัดซื้อเครื่องกำเนิดไฟ และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ก่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำหมู่บ้านแม่กำปองขึ้น โดยให้ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจและหาวัสดุในท้องถิ่นมาร่วมกันก่อสร้างตั้งแต่ฝายกั้นน้ำ ต่อท่อส่งน้ำเข้าเครื่องปั่นไฟ โดยตีมูลค่าแรงงานและวัสดุที่ชาวบ้านนำมามีส่วนร่วมให้เป็นหุ้นในสหกรณ์เพื่อจะบริหารจัดการดำเนินงานและการจำหน่ายไฟฟ้าต่อไป มีการเดินสายไฟ ตั้งเสาไฟฟ้า และต่อเข้ามิเตอร์ของแต่ละหลังคา เริ่มแรกมุ่งให้ชุมชนมีแสงสว่างใช้ในยามค่ำคืน จึงติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพียงขนาด 20 กิโลวัตต์ หลังจากที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ ชาวบ้านจึงมีไฟฟ้าใช้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ต่อมา กรมพัฒนาพลังงานและพลังงานทดแทน ได้มอบโรงไฟฟ้าให้ชุมชนดูแลจัดการเอง พร้อมทั้งให้ความรู้ในการควบคุม บำรุงรักษาระบบกำเนิดไฟ จนกระทั่งชาวบ้านที่จบการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษาสามารถเข้าใจการทำงานของระบบปั่นไฟ สายไฟ และเข็มมิเตอร์ต่างๆ และสามารถสอนต่อชาวบ้านด้วยกันได้ ก่อนจัดตั้งเป็น “สหกรณ์ไฟฟ้าพลังน้ำบ้านแม่กำปอง” โดยใช้เก็บค่าไฟฟ้าโดยวัดจากมิเตอร์อ่านเป็นยูนิต โดยมีคนในชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ
ระยะแรกของการดำเนินงาน การใช้ไฟฟ้าไม่ค่อยมีปัญหาไฟฟ้าดับ ไฟฟ้าตก เพราะได้มีการกำหนดการใช้ไฟฟ้า โดยไม่ให้ชาวบ้านใช้ไฟฟ้าเกิน 3 หลอดต่อหนึ่งหลัง ต่อมาหมู่บ้านใกล้เคียง ได้แก่ บ้านแม่ลาย บ้านธารทอง ได้มาขอร่วมใช้ไฟฟ้าด้วย จึงได้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขนาด 20 กิโลวัตต์เพิ่มอีก 1 โรง เมื่อปี 2530 รวมถึงจัดสรรเวลาในการใช้ไฟฟ้าของแต่ละหลังคาเรือน เพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด

และอีก 4 ปีต่อมา จึงได้มีการสร้างโครงการโรงไฟฟ้าแม่กำปอง 3 ซึ่งมีกำลังการผลิต 40 กิโลวัตต์ เพื่อตอบสนองการใช้ไฟฟ้าที่มีมากขึ้น จนกระทั่ง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขยายสายไฟเข้ามาในพื้นที่ ทำให้ชาวหมู่บ้านเปลี่ยนไปใช้ไฟของ กฟภ. ซึ่งหลายบ้านยังคงใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำร่วมกับไฟจาก กฟภ. ไว้เป็นไฟสำรอง ทำให้สหกรณ์มีรายได้ลดลง แต่ภายหลังได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวโฮมสเตย์ ทำให้สหกรณ์สามารถเลี้ยงตัวได้ และมีรายได้เพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน

แหล่งข้อมูล

www2.eppo.go.th : http://bit.ly/2dVEPPA

www.mae-kampong.com : http://bit.ly/2fxjRqy

สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://www.facebook.com/ERSFellowship/posts/567152396828106