ทุกข์ของเศรษฐีน้ำมัน
อย่างที่ทราบกัน ซาอุดิอาระเบียเป็น 1 ใน 3 ของมหาอำนาจด้านน้ำมัน (สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และซาอุดิอาระเบีย) ที่ผลิตน้ำมันดิบเกิน 10 ล้านบาร์เรล/วัน และยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันมากที่สุดในกลุ่มโอเปก
ตามตัวเลขของทางการ ซาอุดิอาระเบียมีน้ำมันดิบสำรองมากถึง 260 พันล้านบาร์เรล หรือเท่ากับ 25% ของปริมาณน้ำมันดิบสำรองทั่วโลก มากเป็นอันดับสองของโลกรองจากเวเนซูเอล่า
รายได้จากน้ำมันของซาอุดิอาระเบียสูงถึง 90% ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศ คิดเป็น 42% ของ GDP และ 87% ของงบประมาณแผ่นดินของประเทศ ดังนั้นราคาน้ำมันจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการคลังของซาอุดิอาระเบียเป็นอย่างมาก
วิกฤตราคาน้ำมันและวิกฤตโควิด 19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้เป็นต้นมา ได้กดดันราคาน้ำมันให้ลดลงจาก 65 $/bbl. มาอยู่ที่ 40 bbl. ในปัจจุบัน และยังส่งผลให้ความต้องการน้ำมันในไตรมาส 2 ลดลงถึง 25% จากปีที่แล้ว และคาดว่าทั้งปีจะลดลง 10%
ทำให้ซาอุดิอาระเบียสูญเสียรายได้จากน้ำมันเป็นเงินมหาศาล แถมยังต้องลดการผลิตและส่งออกน้อยลงเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมัน โดยการส่งออกน้ำมันดิบในไตรมาสสองปีนี้ลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดนับจากปีค.ศ. 2016 เป็นต้นมา จนทำให้ประเทศต้องขาดดุลงบประมาณสูงถึง 12% ของ GDP ในปีนี้ และคาดว่าปีหน้าจะขาดดุลอีก 5.1%
องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า ราคาน้ำมันที่จะทำให้งบประมาณของซาอุดิอาระเบียเข้าสู่สมดุลทั้งในปีนี้และปีหน้าจะต้องอยู่ที่ 76 และ 66 $/bbl. ตามลำดับ
แต่บทวิเคราะห์ของ Goldman Sachs คาดว่า รัฐมนตรีคลังของซาอุดิอาระเบียน่าจะตั้งงบประมาณโดยอ้างอิงราคาน้ำมันที่ 50 $/bbl.จากนี้ไปจนถึงอีก 3 ปีข้างหน้า (2020-2023) ซึ่งก็ยังต่ำกว่าราคาน้ำมันที่จะทำให้การตั้งงบประมาณแผ่นดินของประเทศเข้าสู่สมดุลตามที่ IMF คาดการเอาไว้
สรุปก็คือ ขณะนี้ซาอุดิอาระเบียและประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมัน กำลังเผชิญกับแรงกดดันทั้งทางด้านการผลิตและรายได้ คือ ถ้าจะผลิตน้ำมันมากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ ราคาก็จะลดลง แต่ถ้าจะลดการผลิตเพื่อดึงราคาให้สูงขึ้น ก็ไม่แน่ว่าราคาจะสูงขึ้นจนชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการลดการผลิตหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจโลกและความต้องการน้ำมัน ที่บริษัทน้ำมันรายใหญ่อย่างบริษัท BP และ Total ออกมาทำนายว่า ยุคของการเติบโตของความต้องการน้ำมันโลกได้ผ่านพ้นหรือจะสิ้นสุดลงอย่างแน่นอนในอีก 10 ปีข้างหน้า
การทำนายนี้ยิ่งทำให้ประเทศที่มีน้ำมันสำรองสูงๆอย่างซาอุดิอาระเบียต้องละล้าละลังว่าจะดำเนินนโยบายการผลิตอย่างไรดี เพราะผลิตมากเกินไปราคาก็ตกต่ำ ถ้าผลิตน้อยแม้ว่าราคาจะสูงขึ้นบ้าง แต่ก็จะทำให้ผู้บริโภคใช้น้อยลง หรือมีพลังงานอื่นมาทดแทน
ทำให้น้ำมันสำรองที่ตนมีอยู่เป็นจำนวนมากก็จะด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ หรือหมดคุณค่าไปในที่สุดถ้าโลกหันไปใช้พลังงานอื่นเพื่อทดแทนน้ำมัน อย่างเช่น การผลิตไฟฟ้าบนหลังคาจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Roof) หรือยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle – EV) เป็นต้น
เรื่องนี้พิสูจน์ว่าเป็นเศรษฐีน้ำมันก็ไม่ได้มีความสุขเสมอไปหรอกครับ !!!
มนูญ ศิริวรรณ
9 ต.ค. 2563