กลุ่มโอเปกและพันธมิตรที่เรียกว่า OPEC+ ได้ประกาศข้อตกลงลดการผลิตครั้งยิ่งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา โดยจะลดการผลิตลงถึง 9.7 ล้านบาร์เรล/ วันในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. หลังจากนั้นลดลง 8 ล้านบาร์เรล/ วันตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค.
ก่อนอื่นผมขอทำความเข้าใจคำว่า “การผลิต” ไม่ใช่ “กำลังการผลิต” แต่เราเอามาใช้กันผิด ๆ จนกลายเป็นถูกไปเสียแล้วในปัจจุบัน
“กำลังการผลิต” มาจากภาษาอังกฤษว่า “Production Capacity” หมายถึงความสามารถในการผลิตน้ำมัน ในขณะที่การผลิตคือ “Production” หรือปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบียมีกำลังการผลิตน้ำมัน 13 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ผลิตน้ำมันออกมาเพียง 9 ล้านบาร์เรล/ วัน ดังนั้นเวลาประกาศว่าจะลดการผลิตจึงเป็นการลด “การผลิต” ไม่ใช่ “กำลังการผลิต” เพราะกำลังการผลิตยังเหมือนเดิม
การลดการผลิตครั้งนี้ใช้เวลาเจรจาต่อรองกันนานถึง 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-12 เมษายน จากตัวเลขเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ว่าจะลด 10 ล้านบาร์เรล/ วัน แต่เม็กซิโกต่อรองขอลดจาก 4 แสนบาร์เรล/ วัน ลงมาเหลือ 1 แสนบาร์เรล/ วัน ตัวเลขจึงออกมาที่ 9.7 ล้านบาร์เรล/ วัน
ส่วนประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในกลุ่มปรับลดลง 23% เท่า ๆ กัน โดยซาอุดีอาระเบียและรัสเซียลดลงมากที่สุดถึงประเทศละ 2.5 ล้านบาร์เรล/ วัน เพราะมีการใช้ตัวเลขการผลิตที่เป็นฐานในการคำนวณสูงถึง 11 ล้านบาร์เรล/ วัน
นอกจากข้อตกลงในกลุ่ม OPEC+ ที่ให้ลดการผลิตลง 9.7 ล้านบาร์เรล/ วันแล้ว กลุ่มฯ ยังได้ขอความร่วมมือจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นในประเทศกลุ่ม G20 อย่างเช่น สหรัฐ แคนาดา นอร์เวย์ บราซิล และอินโดนีเซียให้ช่วยลดการผลิตอีก 5 ล้านบาร์เรล/ วัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน ซึ่งดูจะได้รับความร่วมมือด้วยดี
ในขณะที่องค์การพลังงานสากลก็แนะนำชาติสมาชิกให้ใช้โอกาสที่น้ำมันราคาถูกซื้อน้ำมันเข้าเก็บในคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve-SPR) โดยชาติที่ใช้น้ำมันรายใหญ่อย่างสหรัฐ อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คาดว่าจะซื้อน้ำมันเข้าเก็บได้อีกประมาณ 3 ล้านบาร์เรล/ วัน
และเพื่อให้การลดการผลิตสามารถทำได้ถึงเป้าหมายที่ 20 ล้านบาร์เรล/ วัน ซาอุดีอาระเบีย และพันธมิตรที่ใกล้ชิดอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และคูเวตได้แสดงความจำนงที่จะลดการผลิตลงมากกว่าโควตาที่ได้รับ จนทำให้ตัวเลขลดการผลิตของกลุ่ม OPEC+ มาอยู่ที่ 12.5 ล้านบาร์เรล/ วัน ไม่ใช่แค่ 9.7 ล้านบาร์เรล/ วัน อย่างที่ประกาศเอาไว้
ดังนั้น จากความพยายามทั้งหมดจึงทำให้ตัวเลขลดการผลิตในครั้งนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 19.5 ล้านบาร์เรล/ วัน และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สหรัฐเปลี่ยนท่าทีมาสนับสนุนให้มีการลดการผลิตโดยเป็นตัวกลางประสานรัสเซีย และซาอุดีอาระเบียให้กลับมาคุยกันให้ยุติสงครามราคา และกดดันซาอุดีอาระเบียให้ลดการผลิตทั้ง ๆ ที่ผ่านมามีแต่จะกดดันซาอุดีอาระเบีย และกลุ่มโอเปกให้เพิ่มการผลิตมาโดยตลอด
ทั้งหมดนี้ก็เพราะแรงกดดันจากผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐ ซึ่งใกล้จะล้มละลายจากราคาน้ำมันที่อาจลดลงต่ำกว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐ/ บาร์เรล นั่นเอง!!!.
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/31fFW3T