โลกร้อนเพราะคนเผาถ่าน

0
540
โลกร้อนเพราะคนเผาถ่าน
นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าก๊าซเรือนกระจกเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศนอกจากนั้น ยังพบว่าส่วนใหญ่ของก๊าซเรือนกระจกเกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล อันประกอบด้วยน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ในปัจจุบันโลกยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่มากถึง 80% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด เปอร์เซ็นต์นี้ได้ลดลงตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือว่าสูงเกินไปที่จะบรรเทาปัญหาโลกร้อนได้
วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ “ถ่านหิน” ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มนุษย์ใช้กันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ และเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีส่วนสำคัญในการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเริ่มที่ประเทศอังกฤษในศตวรรษที่ 18 เราคงจำกันได้จากบทเรียนในวิชาประวัติศาสตร์โลกว่า เครื่องจักรไอน้ำเป็นสิ่งประดิษฐ์สำคัญในยุคนั้น และถูกขับเคลื่อนด้วยการเผาถ่านหินเพื่อต้มน้ำจนกลายเป็นไอ ทำให้เกิดแรงดันที่เอาไปใช้หมุนเครื่องจักรเครื่องยนต์ต่างๆ ข้อดีของถ่านหินคือการเป็นเชื้อเพลิงที่ค้นหาได้ง่าย มีอยู่ทั่วไปในทุกภูมิภาคของโลก และมีปริมาณสำรองใต้ดินสูงมาก (ขุดใช้ไปได้อีกไม่ต่ำกว่า 100 ปี) จึงมีต้นทุนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นๆ แต่ข้อเสียก็คือ การทำเหมืองถ่านหิน การขนส่งและการเผาถ่านหิน ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เพราะทำให้เกิดฝุ่นละอองและก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างมาก อีกทั้งมีน้ำหนักมากซึ่งไม่เหมาะกับการใช้เป็นเชื้อเพลิงในการขนส่ง ในเวลาต่อมาโลกจึงหันไปใช้น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียนต่างๆ มากขึ้น การใช้ถ่านหินโดยรวมของโลกเพิ่มขึ้นเกือบทุกปี และเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 เป็นต้นมา สาเหตุหลักของการลดลงเป็นเพราะหลายประเทศ เช่น อังกฤษและเยอรมันนี มีนโยบายลดหรือเลิกการใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้า เพื่อลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม ถ่านหินก็ยังเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญที่สุดในการผลิตไฟฟ้าของโลก (38% ของไฟฟ้าโลกผลิตโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง)
ในปัจจุบันการใช้ถ่านหินของโลกมีปริมาณมากเป็นที่สองรองจากการใช้น้ำมัน โดยมีก๊าซธรรมชาติวิ่งไล่ตามมาติดๆ (ข้อมูลปี ค.ศ. 2015 คือ น้ำมัน 32% ถ่านหิน 28% ก๊าซธรรมชาติ 22% วัดจากหน่วยค่าความร้อน) ในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า เชื่อกันว่าโลกจะใช้ก๊าซธรรมชาติมากกว่าถ่านหินแล้ว ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาพรวมของถ่านหินโลก โดยจีนซึ่งกลายเป็นประเทศที่ใช้พลังงานมากที่สุดในโลก จำเป็นต้องใช้ถ่านหินมากถึงครึ่งหนึ่งของการใช้ถ่านหินทั้งหมดในโลก และเป็นผู้ผลิตและผู้นำเข้าถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย ในปัจจุบันจีนต้องพึ่งพาถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้ามากถึงสองในสามของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ
ในปี ค.ศ. 2018 ประเทศผู้นำเข้าถ่านหินมากที่สุดห้าอันดับแรกของโลกอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งสิ้น อันได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน (ไทยติดอันดับที่ 9) โดยรวมแล้วประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมากถึงสามในสี่ของการใช้ถ่านหินทั้งหมดในโลก (ไทยใช้เพียงครึ่งเปอร์เซ็นต์ของโลกเท่านั้น)
ดังนั้น พฤติกรรมการใช้ถ่านหินของจีน และประเทศยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงน่าจะมีบทบาทสำคัญมากที่จะทำให้โลกสามารถลดก๊าซเรือนกระจกจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลลงไปได้ สำหรับประเทศไทย ถ่านหินที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือลิกไนต์ซึ่งเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพต่ำสุด และมีการค้นพบในประเทศเป็นจำนวนมาก จึงถูกนำมาใช้ก่อนในโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรม ต่อมาจึงมีการนำเข้าถ่านหินกลุ่มที่สองซึ่งเป็นประเภทถ่านหินที่มีคุณภาพสูงกว่า คือมีค่าความร้อนต่อตันเป็นกว่าสองเท่าของลิกไนต์ เผาแล้วก่อให้เกิดเถ้าและฝุ่นละอองน้อยกว่าลิกไนต์ ถ่านหินที่ไทยนำเข้าส่วนใหญ่เป็นประเภทซับบิทูมินัสและบิทูมินัส โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ในด้านปริมาณการใช้ถ่านหิน (คิดตามหน่วยค่าความร้อน) ไทยใช้ถ่านหินลิกไนต์มากกว่าถ่านหินนำเข้ามาโดยตลอด แต่ปริมาณถ่านหินนำเข้าก็ได้เพิ่มขึ้นมาโดยตลอดเช่นกันจนสามารถแซงหน้าลิกไนต์ได้เริ่มในปีพ.ศ. 2549 ในปัจจุบันถ่านหินนำเข้ามีปริมาณเป็น 3 ถึง 4 เท่าของลิกไนต์แล้ว ในปัจจุบัน ลิกไนต์ส่วนใหญ่ถูกใช้ในโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางส่วนใหญ่ของถ่านหินนำเข้าถูกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์) ส่วนที่เหลือนำไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของเอกชน (ทั้ง IPP และ SPP) ถ่านหินมีบทบาทสำคัญในภาพรวมของพลังงานไทยมาโดยตลอด แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาในอดีตของโรงไฟฟ้าที่แม่เมาะเกี่ยวกับฝุ่นควันที่มีต่อชุมชนในบริเวณใกล้เคียง ทำให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมีภาพลักษณ์ที่เลวร้ายในสายตาของคนไทยจำนวนหนึ่ง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันปัญหาของโรงไฟฟ้าที่แม่เมาะจะบรรเทาเบาบางลงไปและผู้ที่สนับสนุนให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ๆ จะให้ข้อมูลว่าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด (clean coal technology) จะไม่สร้างมลภาวะเหมือนกับที่แม่เมาะก็ตาม แต่แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทุกแห่งในประเทศก็มักจะได้รับการต่อต้านอย่างแข็งขัน ทั้งจากชุมชนในพื้นที่ และจากกลุ่มที่ต่อต้านการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปัจจุบัน การใช้ถ่านหินโดยรวมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมดในประเทศ แรงต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศไม่สามารถใช้ถ่านหินได้ในสัดส่วนที่มากขึ้น และการใช้ถ่านหินในโรงงานอุตสาหกรรมก็อาจจะได้รับแรงต่อต้านในอนาคตอีกด้วย จึงคาดได้ว่าไทยจะเผาถ่านหินน้อยลงในอนาคต ซึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ที่ห่วงใยในปัญหาภาวะโลกร้อน

บทความโดย พรายพล คุ้มทรัพย์

สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/2BDCXHO