เมื่อวันที่ 10-14 ธันวาคม 2561 ที่เพิ่งผ่านไป ผมได้มีโอกาสติดตามคณะของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปร่วมประชุมและสังเกตการณ์กิจกรรมต่างๆ ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 24 หรือที่มักเรียกสั้นๆ ว่า UNFCCC COP คำว่า COP มีที่มาจาก Conference of the Parties ในอนุสัญญา United Nations Framework Convention on Climate Change ซึ่งมีรัฐภาคี 197 ประเทศ (คือเรียกว่าแทบจะทุกประเทศในโลกเลยก็ว่าได้) แต่ละประเทศมีความมุ่งมั่นตลอดจนตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว และจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีผลมาจากการสะสมตัวของก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) ที่มากเกินสมดุลในชั้นบรรยากาศโลก อันเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์
ท่านผู้อ่านคงพอจะเคยได้ยินความตกลงประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า ความตกลงปารีส ในปี 2558 หรือ The Paris Agreement ที่ทุกประเทศภายใต้อนุสัญญา UNFCCC ได้บรรลุข้อตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์ร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2°C ภายในศตวรรษที่ 21 และจะพยายามทุกวิถีทางในการลดการเพิ่มของอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5°C เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป
การประชุม COP24 ครั้งนี้ จัดขึ้นที่เมือง Katowice ทางตอนใต้ของ Poland มีประเทศภาคีและกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่เข้าร่วมมากมายหลายร้อยองค์กร โดยมีจำนวน ผู้แทนประเทศที่เข้าประชุม ผู้สื่อข่าว ตลอดจนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมใน Side events ต่างๆ มากกว่า 22,000 คน เขามาทำอะไรและได้ผลลัพธ์อะไรไปบ้างจากการประชุม COP24 นี้
ประการแรก COP24 เป็นเวทีที่นานาประเทศมาประชุมเจรจา (negotiation) เพื่อตกลงกันใน Paris Agreement Work Programme ว่าเป้าหมายและเจตจำนงที่ประเทศต่าง ๆ ลงนามกันไว้ใน Paris Agreement ที่เรียกว่า NDCs (Nationally Determined Contributions) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2020-2030 นั้น จะนำไปปฏิบัติกันอย่างไร จะมี Work Programme หรือ Roadmap อย่างไรที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะช่วยประเทศกำลังพัฒนา ได้อย่างไรบ้าง ในการยกระดับความมุ่งมั่น (Ambition) ของการดำเนินแผนปฏิบัติการในด้านต่างๆ ได้แก่ การลดก๊าซเรือนกระจก (mitigation) การปรับตัว (adaptation) การเงินเพื่อช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) ความร่วมมือทางวิชาการ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และเสริมสร้างศักยภาพ (technical cooperation, technology transfer and capacity building) ตลอดจน นวัตกรรมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ (Innovations) อันจะมาช่วยโลกเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้
จากการติดตามผลการประชุมล่าสุด ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2561 พบว่า ที่ประชุม COP24 ได้รับรอง ‘Katowice Climate Package’ ที่เปรียบเสมือนเป็น Implementation Guidelines ในการทำให้เป้าหมาย NDCs ของประเทศต่าง ๆ ที่แสดงเจตจำนงไว้ภายใต้ Paris Agreement เกิดผลในทางปฏิบัติ แนวปฏิบัติที่ว่านี้ ยังรวมถึง
1. กระบวนการเพื่อ “กำหนดเป้าหมาย ของการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน” หรือ Climate Finance ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป นอกเหนือไปจากความพยายามในการจัดหาเงินทุนสนับสนุน ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป
2. วิธีการ “ทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก” (Global Stocktake) เพื่อประสิทธิภาพในการประเมินผล ณ ปี 2566 เป็นต้นไป
3. กระบวนการ ประเมินความก้าวหน้าและผลลัพธ์ ของการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับ กลไกป้องกันการนับซ้ำของปริมาณลดก๊าซเรือนกระจก ตาม Article 6 ซึ่งยังมีความเห็นต่างกันในวิธีคิดและกระบวนการอยู่ ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ ซึ่งก็คงจะต้องไปหาข้อสรุปให้ได้ภายในที่ประชุม COP25 ในปีหน้า
สำหรับประเทศไทยนั้น ท่าน รมว.ทส. ได้กล่าวถ้อยแถลงของไทยในที่ประชุม COP24 เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นและความก้าวหน้า ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย ตามที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ ทั้งในกรณีของเจตจำนงเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยก่อนปี ค.ศ. 2020 หรือ NAMAs และเจตจำนงเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของไทย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020-2030 ที่เรียกว่า Thailand NDCs เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายรวมของโลกตามความตกลง Paris Agreement 2015 ซึ่งจากการติดตามอย่างมีหลักวิชาการ พบว่า ล่าสุดในปี 2559 ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้เทียบเท่า 45.72 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือลดลงร้อยละ 12 จากกรณีฐาน (Business as Usual) และภายใต้แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย พ.ศ. 2564-2573 ในสาขาพลังงานขนส่ง การจัดการของเสีย และกระบวนการของอุตสาหกรรม ก็น่าเชื่อว่า ไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมาย NDCs ที่เสนอไว้ต่อสหประชาชาติว่า จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25 จากกรณีฐานได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ไทยยังเป็นเพียงหนึ่งในสองประเทศจากอาเซียน ที่ไปจัดกิจกรรม Side event ประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าของแผนและโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนต่างๆ ในเวที COP24 นี้ด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจากหลายประเทศและองค์กรความร่วมมือต่างๆ แวะมาฟังและสอบถาม ซึ่งในภาพรวมผมมีความภูมิใจที่ได้เห็นรัฐบาลไทยแสดงความมุ่งมั่นในการทำตามเจตจำนง NDCs ที่เราให้ไว้กับ UN ภายใต้ Paris Agreement และเห็นว่าไทยเราไม่มีความน้อยหน้าประเทศใดเลยในอาเซียนในกิจกรรมร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บนหลักการความรับผิดชอบร่วมในระดับที่แตกต่างตามขีดความสามารถ (Common but differentiated responsibility and respective capability)
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/2BgRFES