เปิดนโยบายพลังงานของรมต.พลังงานคนใหม่

0
1446

เมื่อวันที่ 20 ส.ค.63 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรมว.พลังงานคนใหม่ ได้แถลงนโยบายด้านพลังงานต่อสื่อมวลชนสายพลังงานเป็นครั้งแรก และได้สร้างความชัดเจนในนโยบายพลังงานหลายด้านที่เคยเป็นข้อกังขาของผู้เกี่ยวข้องมาก่อนหน้านี้ ว่า รมว.พลังงานท่านใหม่ จะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไรต่อไป

หนึ่งในข้อสงสัยที่ว่าคือนโยบายเกี่ยวกับ โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่รัฐมนตรีพลังงานคนก่อน คือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ได้เริ่มต้นเอาไว้ ว่าจะได้รับการสานต่อหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้โครงการนี้ถูกชะลอเอาไว้ด้วยเหตุผลว่าไม่อยู่ในแผนการผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP2018

และต่อมาถึงแม้จะมีการแก้ไขแผน PDP2018 เป็นฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 ที่มีการบรรจุเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าไปด้วย แต่แผน PDP ฉบับแก้ไขก็ยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรี ทำให้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่สามารถออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนได้

ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี จึงเป็นที่จับตามองว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะได้รับการพิจารณาให้เดินหน้าต่อหรือไม่?

โดยเรื่องนี้ท่านรัฐมนตรีพลังงานท่านใหม่ได้แถลงไว้อย่างชัดเจนว่าจะดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป เพียงแต่จะขอเวลา 30 วันในการปรับรูปแบบโครงการ โดยได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการเพื่อให้เกษตรกรได้ประโยชน์จากโครงการอย่างแท้จริงไม่ใช่เอกชน ผู้ลงทุนเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุด และตั้งเป้าหมายว่าจะประกาศเชิญชวนผู้สนใจให้ยื่นเสนอโครงการได้ภายในปลายปีนี้

โดยเบื้องต้นจะทำเป็นโครงการนำร่องเพื่อให้เห็นว่าเกษตรกรเป็นผู้ได้รับประโยชน์ เกิดการจ้างงาน และมีรายได้จากการปลูกและขายพืชพลังงานเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า

ส่วนเรื่องแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่รอเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีนั้น ก็จะดึงกลับมาก่อนเพื่อปรับปรุงอีกครั้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะโควิด-19 โดยจะไม่กระทบกับการดำเนินการของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพราะสามารถจัดทำเป็นบทแทรกอยู่ในแผน PDP2018 ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้และเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อรองรับการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าระบบได้

ถ้าดูจากการแถลงข่าวดังกล่าวก็พอจะสรุปได้ว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนคงเดินหน้าต่อไป แต่ด้วยแรงผลักดันที่ลดน้อยลงจากเดิม เพราะไม่ใช่โครงการสำคัญตามนโยบายของฝ่ายการเมืองอีกต่อไป ดังนั้นเป้าหมายที่จะสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมถึง 1,933 MW (700 MW ภายในปี 2565) ตามแผน PDP2018 ฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 ก็คงต้องถูกยกเลิกไป แล้วมากำหนดกันใหม่

ส่วนหลักเกณฑ์ที่จะแก้ไขให้ผลประโยชน์ตกแก่ชุมชนและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจริงๆ ผมขอเสนอให้เปิดให้ผู้สนใจที่จะลงทุนยื่นประมูลในสองเงื่อนไขคือ 1. ประโยชน์หรือผลตอบแทนที่จะให้กับชุมชน และ 2. ราคาค่าไฟฟ้าที่จะขายเข้าระบบใครให้ผลตอบแทนสูง ค่าไฟฟ้าต่ำก็ชนะไป รัฐไม่ควรไปกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าเองครับ เพราะมักจะกำหนดเอาไว้สูงเพื่อจูงใจผู้ผลิต

ที่สำคัญยังเป็นสาเหตุของการวิ่งเต้นเพื่อขอโครงการและนำโครงการไปแสวงหากำไรครับ!!!.

ℹ️ ที่มาบทความ คอลัมน์ “พลังงานรอบทิศ” เรื่อง “เปิดนโยบายพลังงานของรมต.พลังงานคนใหม่” นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2563
ℹ️ โดย มนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน

*บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน