ในที่สุดศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องขอเพิกถอนประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมลงวันที่ 19 ตุลาคม 2560 และ กฎกระทรวงเกี่ยวกับการสำรวจหรือผลิตปิโตร เลียม พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนิน การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทานสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ
คดีนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาอีก 4 คน ได้ฟ้องคณะกรรมการปิโตรเลียมคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อศาลปกครองสูงสุดขอเพิกถอนประกาศและกฎกระทรวงที่อ้างถึงข้างต้น โดยฟ้องว่าประกาศฉบับดังกล่าวได้มีการกำหนดเงื่อนไขที่จงใจให้ไม่สามารถนำระบบสัญญาจ้างบริการมาใช้ได้จึงขัดต่อกฎหมาย เอื้อประโยชน์แก่ผู้รับสัมปทานเดิม และกฎกระทรวงที่กำหนดให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีสิทธิรับส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรแทนรัฐโดยการเจรจาราคานั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ร่วมการทุจริต
ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีแต่บุคคลธรรมดาที่ยื่นฟ้องร่วมด้วยนั้นไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยตรงจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีและหลังจากพิจารณาไต่สวนคดีมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2561 ศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 ยกฟ้องคดีดังกล่าว
ในคำพิพากษา ศาลฯได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมโดยการให้สัมปทานสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการนั้นการได้ผลประโยชน์และภาระหน้าที่ของรัฐจะแตกต่างกันโดยระบบสัญญาแบ่งปัน ผลผลิตสามารถจูงใจผู้ประกอบการได้มากกว่าสัญญาจ้างบริการ
อีกทั้งพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการปิโตรเลียมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการว่าที่ใดสมควรสมควรดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบใด
การกำหนดวิธีการสำรวจจากปริมาณการสำรวจพบปิโตรเลียมและโอกาสพบปิโตรเลียมจึงสามารถดำเนินการได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ และการดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุล และยั่งยืนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ปิโตรเลียมย่อมหมายความรวมถึงกระบวนการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถนำทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ได้ด้วยการกำหนดวิธีการจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งใน และต่างประเทศตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก
การที่คณะกรรมการปิโตรเลียมใช้ดุลพินิจกำหนดให้การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบสัญญาจ้างบริการสามารถดำเนินการเฉพาะในพื้นที่ที่มีการสำรวจพบปิโตรเลียมเป็นปริมาณที่มากกว่าที่มีการค้นพบแล้วในประเทศจึงมีเหตุผลสนับสนุน และไม่อาจรับฟังได้ว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกทั้งตามประกาศยังกำหนดให้มีการทบทวนโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศทุก ๆ 3 ปี ดังนั้นโอกาสที่จะมีการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัญญาจ้างบริการย่อมเกิดขึ้นได้
ส่วนกรณีกฎกระทรวงที่กำหนดให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีสิทธิรับส่วนแบ่งปิโตรเลียมโดยการเจรจาราคานั้นศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าพ.ร.บ.ปิโตรเลียมได้กำหนดวิธีการขายปิโตร เลียมไว้เป็นการเฉพาะแล้วแบบของสัญญาตามกฎกระทรวงดังกล่าว จึงเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
สรุปก็คือ การประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกช/เอราวัณหมดอุปสรรคขวากหนามแล้วสามารถเดินหน้าลงนามในสัญญาได้แล้วครับ
เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
มนูญ ศิริวรรณ
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/3895Cke