วันนี้น้ำมันยังแพงเพราะเอทานอล จริงหรือ

0
1289

เอทานอล ทำแก๊สโซฮอล์แพง จริงหรือ ? แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดต่ำลงไปหลายปีแล้วโดยเฉพาะในช่วงโควิดระบาด แต่ผู้ใช้รถยังรู้สึกว่าราคาหน้าปั๊มไม่ได้ลดลงเท่าที่ควร เพราะส่วนผสมเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งในกลุ่มเบนซินและดีเซลไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามตลาดน้ำมันปิโตรเลียม

สำหรับกลุ่มเบนซินซึ่งคือแก๊สโซฮอล์ …เข้าใจได้ใน #พลังงาน8บรรทัด ดังนี้

  1. ประเทศไทยใช้เอทานอลมาผลิตแก๊สโซฮอล์เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง โดยเป็นนโยบายรัฐเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในการรักษาเสถียรภาพราคาอ้อยและมันสำปะหลัง การผลิตเอทานอลในประเทศไทยใช้วัตถุดิบหลัก 2 อย่าง คือ กากน้ำตาลจากอ้อย (โมลาส) และมันสำปะหลัง [ปัจจุบันมีแก๊สโซฮอล์ 3 ชนิด แก๊สโซฮอล์ 95 เป็นน้ำมันกลุ่มเบนซินที่มีการใช้มากที่สุด (43%) รองลงมา คือ แก๊สโซฮอล์ 91 อี20 อี 85 และ เบนซิน ตามลำดับ]
  2. โครงสร้างราคาเอทานอลในอดีตเมื่อเริ่มผลิตในประเทศไทยปี พ.ศ.2544 รัฐใช้ราคารับซื้อที่อิงกับตลาดโลกเพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตพัฒนาประสิทธิภาพให้แข่งขันได้ แต่ต่อมา พ.ศ.2552 มีการปรับให้เป็นระบบต้นทุน+กำไร (Cost Plus) ซึ่งเป็นการปกป้องผู้ผลิตโดยไม่มีกลไกแบ่งปันผลประโยชน์ส่วนนี้ไปให้เกษตรกร
  3. ปัจจุบันราคาเอทานอลในไทยแพงกว่าตลาดโลกมาก โดยราคาเอทานอลของสหรัฐฯ และ บราซิล เฉลี่ยอยู่ที่ 14-16 บาท/ลิตร สำหรับราคาเอทานอลของไทยเฉลี่ย ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 อยู่ที่ 23.8 บาท/ลิตร และแพงกว่าน้ำมันเบนซินที่ใช้ผสมเป็นแก๊สโซฮอล์ เหตุหนึ่งที่ราคาของไทยสูงกว่าได้มาก เพราะมีการห้ามนำเข้าเอทานอลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ทำให้ผู้ผลิตไทยได้รับการปกป้อง ไม่ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพหรือลดกำไรเพื่อแข่งขันกับเอทานอลนำเข้า
  4. เอทานอลมีค่าความร้อนต่ำกว่าน้ำมันเบนซิน (ULG 95) ประมาณ 35% ทําให้กินน้ำมันมากกว่าในระยะทางเท่า ๆ กัน โดยหากเทียบราคาปัจจุบันต่อค่าความร้อน เอทานอลแพงกว่าน้ำมันเบนซินถึง 3 เท่า (ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 ทั้งนี้ ไม่รวมการเก็บเข้าเงินกองทุนน้ำมันฯ)

5.ยิ่งเติมเอทานอลมากขึ้นเท่าไหร่ ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอลก็จะยิ่งแพงมากขึ้นเท่านั้น แต่เหตุผลที่เอทานอลยังขายอยู่ในแก๊สโซฮอล์ได้เป็นเพราะมีการอุดหนุนราคาผ่านกองทุนน้ำมัน โดยเก็บเงินจากผู้ใช้เบนซินธรรมดาและแก๊สโซฮอล์ E10 เพื่อไปอุดหนุนผู้ใช้ E20 และ E85 ซึ่งก็ถูกเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราต่ำกว่าอีกด้วย

  1. ต้นทุนการผลิตเอทานอลไทยส่วนใหญ่ คือค่าวัตถุดิบ (ประมาณ 65%) ที่เหลือเป็นค่ากระบวนการผลิต ค่าขนส่ง ค่าเสื่อมราคา และกำไร โดยต้นทุนการผลิตจากกากน้ำตาลต่ำกว่ามันสำปะหลังแต่ราคาขายพอ ๆ กัน ทำให้ผู้ผลิตที่ใช้มันสำปะหลังกำไรน้อยกว่า
  2. อีกสาเหตุหนึ่งที่ราคาเอทานอลไทยแพงกว่าต่างประเทศ เพราะตลาดเอทานอลในไทยไม่มีการแข่งขันจากผู้ค้ารายใหม่ โดยรัฐไม่อนุญาตให้เปิดธุรกิจใหม่ ถือเป็นการปกป้องธุรกิจเอทานอลจากการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกประเทศ
  3. จะเห็นว่าโครงสร้างราคาเอทานอลมีปัญหาในหลายด้าน แต่ดูเหมือนกระทรวงพลังงานยังมีนโยบายที่จะส่งเสริมการใช้เอทานอลต่อไป แม้พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้เลิกใช้เงินกองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพภายใน 3 ปี โดยสามารถต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี แต่ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ. ซึ่งแปลว่าปัญหาเชิงโครงสร้างนี้จะยังไม่ได้รับการแก้ไข และผู้ใช้น้ำมันส่วนหนึ่งก็ยังต้องแบกรับภาระต่อไป!

ถึงเวลาแก้ปัญหาแล้วหรือไม่ ? ERS ได้เสนอให้ปรับโครงสร้างราคาเอทานอลให้แข่งขันได้อย่างแท้จริง เพื่อไม่เป็นภาระการอุดหนุนกับผู้ใช้รถบางกลุ่ม โดยโครงสร้างราคาควรจูงใจให้ผู้ผลิตปรับปรุงประสิทธิภาพ อีกทั้งรัฐควรเปิดกว้างให้ใช้พืชพันธุกรรม (GMO) ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้เกษตรกรด้วย

แสดงความคิดเห็นได้ที่:https://www.facebook.com/ERSFellowship/posts/1511620449047958