ราคาน้ำมัน กับ COVID-19

0
311

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านไป การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยมีการพบการติดเชื้อไวรัส

COVID-19 เริ่มที่ นครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ของจีน ติดต่อสู่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิหร่าน และอิตาลี แพร่ระบาดไปต่อในหลายประเทศทั่วโลกจนถึงปัจจุบันแล้วกว่า 100 ประเทศ ณ วันที่ 16 มี.ค. 63 มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั่วโลก 170,471 คน มีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อนี้แล้ว 6,526 คน สำหรับประเทศไทยของเรา ณ วันที่ 16 มี.ค. 63 พบผู้ป่วยติดเชื้อ 147 ราย เสียชีวิต 1 ราย และรักษาจนหายป่วยแล้ว 41 ราย ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเรื่องชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ให้โรคติดเชื้อ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หลายๆ หน่วยงานในไทยมีการกำหนดมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังที่เข้มข้นมากขึ้น สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่ 17 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2563 ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 นี้เช่นเดียวกันกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจสาขาอื่นๆ ราคาน้ำมันผันผวนดิ่งลงมาอย่างรวดเร็วจากความวิตกกังวลของนักลงทุนและผู้ค้าน้ำมันทั่วโลก ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลงไป 6.95 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 55.96 เหลือเพียง 49.01 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดในรอบ 13 เดือน ราคาน้ำมันเบนซิน (ULG95 Singapore) ลดลง 9.63 จาก 66.43 มาอยู่ที่ 56.80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ดีเซล(กำมะถัน 10ppm) ก็ลดลง 9.16 จาก 67.83 มาอยู่ที่ 58.67 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ในช่วงสั้นๆ นี้ ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในไทย กลุ่มเบนซิน/แก๊สโซฮอล์มีการปรับราคา 4 ครั้ง (ขึ้น 1 ครั้ง ลง 3 ครั้ง) และกลุ่มดีเซล ปรับราคา 5 ครั้ง (ขึ้น 2 ครั้ง ลง 3 ครั้ง) การปรับตัวลงอย่างมากของราคาน้ำมันนี้ ก็เพราะผู้ค้าน้ำมันและนักลงทุนประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวถึงขั้นถดถอย กิจกรรมทางการพาณิชย์และบริการหลายๆประการ เช่นการเดินทางระหว่างประเทศ การจัดประชุมนานาชาติขนาดใหญ่ การท่องเที่ยว การโรงแรมทั่วโลก ที่เคยเป็นตัวกระตุ้นอุปสงค์ (demand) ของการใช้พลังงาน แทบจะหยุดชะงักโดยสิ้นเชิง ล่าสุด Reuters Poll ได้มีการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปี 2563 ว่าจะลดลงจากที่เคยพยากรณ์ไว้ที่ 0.8-1.5 ล้านบาร์เรล/วัน เหลือเพียง 0.7-1.1 ล้านบาร์เรล/วัน (year on year) แม้จะมีความเคลื่อนไหวมาก่อนหน้านี้ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบ (OPEC) และรัสเซีย ที่ลดกำลังผลิตเพื่อควบคุมอุปทานและรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบ แต่ก็คงไม่สามารถจะทานกระแสความวิตกต่อผลกระทบของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจโลกได้ ล่าสุดโรคนี้เริ่มแพร่ระบาดเข้าไปยังสหรัฐอเมริกา จนมีสถิติผู้ป่วยและตายแซงหน้าไทยไปแล้วด้วย ในมุมมองของนักวิเคราะห์อาวุโสด้านพลังงาน คือ Dr Fereidun Fesharaki จาก FGE เขาได้ทบทวนให้เห็นเหตุการณ์ใหญ่ๆที่สำคัญเพียงในช่วงเวลา 6 เดือนย้อนหลังไปที่น่าจะส่งผลต่อทิศทางและความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันโลก เหตุการณ์เหล่านั้น ได้แก่

  1. การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีพลังงานของซาอุดีอาระเบียในเดือนกันยายน 2562 ซึ่งทำให้เกิดการคาดการณ์ไปต่างๆ นานาถึงนโยบายควบคุมกำลังผลิตและพยุงราคา
  2. การโจมตีทิ้งระเบิดจาก Drone โดยกลุ่มฮูติในเยเมน เข้าใส่แหล่งผลิตน้ำมันใหญ่แห่งหนึ่งของซาอุดีอาระเบีย ในกลางเดือนกันยายน ซึ่งส่งผลต่อการสะดุดหยุดลงชั่วคราวของการผลิตน้ำมันดิบถึงกว่า 5 ล้านบาร์เรล/วัน
  3. การบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเตากำมะถันต่ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่สิ้นปี 2562 สำหรับเรือสินค้าเดินสมุทร หรือ IMO2020 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการที่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงในเรือเดินสมุทรเป็นปริมาณกว่า 3 ล้านบาร์เรล/วัน ที่ได้สร้างความปั่นป่วนในตลาดน้ำมันเตาไม่น้อย
  4. การโจมตีทางทหารระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน ในช่วงเวลาสั้นๆเมื่อต้นเดือนมกราคม 2563 หลังจากที่นายพลโซไลมานีของอิหร่านถูกสังหารโดยจรวดจากโดรนของสหรัฐฯ ที่ได้สร้างความวิตกกังวลว่าสถานการณ์จะลุกลามเป็นสงครามเต็มรูปแบบที่จะกระทบต่อการส่งออกน้ำมันกว่า 17 ล้านบาร์เรล/วัน จากภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่
  5. การบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เมื่อกลางมกราคม 2563 ที่จะช่วยลดความตึงเครียดทางการค้าระหว่างมหาอำนาจสองประเทศนี้ และส่งสัญญาณทางบวกต่อการเติบโตเศรษฐกิจโลกและต่ออุปสงค์น้ำมันดิบ ที่พลันหายวับไปกับตาเพราะข่าว COVID-19
  6. การ blockade ที่ทำให้ต้องหยุดส่งออกน้ำมันดิบจากลิเบีย เมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 เพราะเหตุการสู้รบระหว่างกองกำลังต่างฝ่ายที่แย่งชิงอำนาจการปกครองกัน ส่งผลให้ปริมาณส่งออกน้ำมันดิบจากลิเบียหายไปจากตลาดถึง 1 ล้านบาร์เรล/วัน
  7. การแซงค์ชั่นทางการค้ารอบใหม่ของสหรัฐอเมริกาต่อบริษัทในเครือ Rosnett ของรัสเซียเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากการที่ Rosnett ไปช่วยรัฐบาลเวเนซุเอลาส่งออกน้ำมันดิบไปยังตลาดอื่นอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าที่สหรัฐฯบังคับใช้อยู่ต่อรัฐบาลของประธานาธิบดีมาดูโรแห่งเวเนซุเอลา ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลกถึง 600,000. บาร์เรล/วัน และ
  8. การประชุมประเทศกลุ่ม OPEC+Russia ที่มีแผนจะจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ในวันที่ 5-6 มีนาคม ศกนี้ จะบรรลุข้อตกลงหรือล้มเหลวซ้ำซากอีกในการพยายามลดกำลังผลิต เพื่อพยุงราคาน้ำมัน หรือว่าซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรอาหรับคือคูเวตและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ จะร่วมกันลดการผลิตเองราว 300,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งก็จะเสี่ยงที่ไม่เกิดผลอะไรเพราะรัสเซียอาจฉวยโอกาสผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเข้ามาทดแทน แต่ในบรรยากาศความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในช่วงเพียงหกเดือนที่ผ่านมาข้างต้น Dr Fesharaki เห็นว่าสิ่งที่นับเป็น
    อภิมหาแห่งความไม่แน่นอนทั้งปวงก็คือ เจ้าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 นี้แหละ เขามองว่ามันจะส่งผลให้อุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมันดิบหายไปอาจถึง 2 ล้านบาร์เรล/วันในไตรมาสแรกของปี 2563 นี้ อนึ่ง การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวย่อมจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อพลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนทั่วไปในจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอาเซียน และส่งต่อไปถึงการค้าและบริการทั่วโลกอีกด้วย Dr Fesharaki กล่าวว่า เมื่อมองถึงความเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่ของสายการผลิตในโลกนี้ให้ดี เราจะพบว่าการจะพัฒนาเติบโตไปได้ ต้องพึ่งสามเสาหลักของประเทศที่ทรงพลังคือ เยอรมนีและกลุ่มประชาคมยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบัน ในสามเสาหลักนี้ เยอรมนีมาถึงจุดที่อิ่มตัวสุดคือจะไม่โตได้เร็วอีกแล้ว จีนแม้จะเป็นข้อกลางของห่วงโซ่เศรษฐกิจโลกก็ตาม แต่ขณะนี้จีนก็ต้องเผชิญกับปัญหาร้ายแรงจากโรคระบาด COVID-19 ที่จะหน่วงรั้งการเติบโตภายในประเทศอย่างแน่นอน จึงเหลือแต่เพียงก็สหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ยังมีพื้นฐานการเติบโตที่ดีอยู่ ดังนั้นโดยรวม เมื่อคาดการณ์เศรษฐกิจโลกไปข้างหน้า นอกจากจะไม่โตขึ้นแล้ว ปีนี้ทั้งปีนี้อาจจะหดตัวหรือติดลบก็เป็นไปได้

เขาว่ามือที่มองไม่เห็น มีอำนาจมากฉันใด แต่ไวรัส COVID-19 ที่มองไม่เห็นและยังไม่มีวัคซีนมารักษา ก็ย่อมมีพลานุภาพต่อราคาน้ำมันมากด้วย ฉันนั้น และยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าหลายเท่านักด้วย

โดย ดร. คุรุจิต นาครทรรพ
ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
อดีตประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน สปท.

18 มีนาคม 2563
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/2Zhv3MC