ราคาน้ำมันภายใต้วิกฤติโควิด-19
ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงวันนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ลดลงมาแล้วประมาณ 60% โดยน้ำมันดิบลดลงประมาณ 40$/bbl. และน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ลดลงประมาณ 40-50$/bbl.
ส่วนในบ้านเรา ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ราคาขายปลีกหน้าปั๊มลดลงค่อนข้างถี่มากโดยในบางสัปดาห์ลดลงถึง 5 วันติดต่อกัน จนผู้ค้าปลีกที่เป็นผู้ดำเนินการสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊มน้ำมัน) พากันโอดครวญว่าขาดทุนย่อยยับ
เพราะน้ำมันที่สั่งมา 1 คันรถบรรทุกประมาณ 16,000-20,000 ลิตร ต้องใช้เวลาขาย 3-5 วัน จึงจะหมด แต่ราคาน้ำมันลดลงทุกวัน วันละ 60 สต./ลิตร 5 วันก็เท่ากับ 3 บาท แต่กำไรของผู้ดำเนินการสถานีบริการอยู่ที่เพียง 50-90 สต./ลิตรเท่านั้น
ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการบางรายน้ำมันออกจากคลังน้ำมันมายังไม่ถึงปั๊มก็ขาดทุนแล้ว!
อย่างไรก็ตาม ความที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงมากทำให้ผมได้รับคำถามอยู่ตลอดเวลาว่าทำไมราคาน้ำมันในบ้านเราปรับตัวลดลงสอดคล้องกับราคาในตลาดโลกหรือไม่ และบางท่านก็ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมราคาน้ำมันตลาดโลกตั้ง 60% แต่ราคาน้ำมันบ้านเราทำไมลดลงไม่ถึง 60%
เพื่อความกระจ่างผมได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง ระหว่างวันที่ 6-25 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงของวิกฤติการณ์ “แฝดสยอง” หรือ “Twin Shocks” โดยเกิดวิกฤติสงครามราคาระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซีย ซึ่งทำให้มีการเพิ่มการผลิตน้ำมัน และวิกฤติโควิด-19 ที่กระทบการเติบโตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจจนความต้องการน้ำมันลดลง ว่าราคาในตลาดโลกและราคาในบ้านเรามีการเปลี่ยนแปลงสัมพันธ์กันอย่างไร
จากข้อมูลของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) พบว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงดังกล่าวลดลงประมาณ 20$/bbl. หรือ 45-50% ในขณะที่น้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ลดลง 18-34 $/bbl. หรือ 30-60% โดยเบนซินลดลงมากกว่าดีเซล
ทางด้านราคาขายปลีกบ้านเราในช่วงเดียวกันมีการปรับลดลง 10 ครั้งสำหรับกลุ่มเบนซิน/แก๊สโซฮอล์ เป็นเงิน 5.90 บาท/ลิตรและปรับลดเงินกองทุนอีก 0.85 บาท/ลิตร รวมเป็น 6.75 บาท/ลิตร
ส่วนดีเซลมีการปรับลดลง 8 ครั้ง เป็นเงิน 4.10 บาท/ลิตร และลดเงินกองทุนอีก 0.24 บาท/ลิตร รวมเป็น 4.34 บาท/ลิตร
ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันที่ลดลงระหว่างราคาขายปลีกของไทยกับราคา mops น้ำมันสำเร็จรูปที่สิงคโปร์ที่เปลี่ยนเป็นเงินบาทตามค่าเงินในปัจจุบันจะพบว่าในส่วนของน้ำมันดีเซลเราลดลงมากกว่าสิงคโปร์ที่ลดลง 18 $/bbl. (3.80 บาท/ลิตร)
แต่ในส่วนของน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ราคาขายปลีกบ้านเราอาจลดลงน้อยกว่าสิงคโปร์ที่ลดลง 34 $/bbl. (7 บาท/ลิตร) แต่ต้องคำนึงถึงสเปกน้ำมันที่ต่างกันด้วย เพราะเบนซินของเรามีการเติมแก๊สโซฮอล์ลงไป 10%
ส่วนเรื่องเปอร์เซ็นต์ที่ลดลงนั้นคงเอามาเทียบกันไม่ได้ว่าถ้าตลาดโลกลดลง 50% ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยต้องลดลง 50% ด้วย เพราะโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยมีสัดส่วนภาษีอยู่สูงถึง 40-50% เวลาราคาน้ำมันลดลง จึงลดลงเฉพาะเนื้อน้ำมัน 50% แต่ภาษีไม่ได้ลด 50% ตามไปด้วย
ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ราคาขายปลีก (ที่รวมภาษี) ลด 50% ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก!!!.
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/2BJckBu