ระบบไฟฟ้าในยุค Disruption

0
454
สัปดาห์ที่แล้วได้ไปรับฟังการเสวนาเรื่อง “พลังงาน ยุค…ดิสรัปชั่น” ทำให้เห็นภาพว่าธุรกิจพลังงานในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในบ้านเราน่าจะถูก “ดิสรัป” มากที่สุด เพราะเป็นธุรกิจที่ยังมีการปรับตัวน้อยที่สุด และถูกปกป้องด้วยกฏเกณฑ์ต่างๆที่ออกมาเพื่อส่งเสริมการผูกขาดของภาครัฐและผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้ขาดการแข่งขันเท่าที่ควร

 

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันภาคการผลิตไฟฟ้าของเรายังมีลักษณะรวมศูนย์ (Centralization) เน้นสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานฟอสซิล เพื่อเหตุผลเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน ถึงแม้จะมีผู้ผลิตที่เป็นเอกชนที่เรียกว่า IPP, SPP แต่ก็ต้องขายไฟให้กับภาครัฐตามนโยบาย Enhance Single Buyer
ในขณะที่ภาคสายส่งและจำหน่ายก็ยังมีลักษณะผูกขาดและไม่เอื้อต่อผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก ประชาชนผู้บริโภคก็ยังไม่มีสิทธ์เลือกที่จะซื้อไฟฟ้าจากแหล่งอื่น หรือผลิตไฟฟ้าใช้เองแล้วขายเข้าระบบหรือขายให้คนอื่น ถ้าเหลือใช้หรือผลิตได้เกินความต้องการ (Prosumer)

 

ด้วยเหตุนี้การผลิตไฟฟ้าบ้านเราจึงถูกกล่าวหามาตลอดว่าเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) และภาวะโลกร้อน (Global Warming) เพราะผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานฟอสซิล แม้กระทั่งภาวะฝนแล้งหรือการขาดแคลนน้ำก็กล่าวว่าเป็นผลมาจากการใช้พลังงานฟอลซิลมากเกินไป
ดังนั้นในอนาคตเรื่องของพลังงานไฟฟ้าในบ้านเราย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะถูก “ดิสรัป” อย่างรุนแรงจากแรงกดดันทางสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพื่อสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตที่มีความคาดหวังที่สูงขึ้น

 

สิ่งที่มองเห็นอย่างชัดเจนคือ การใช้พลังงานในการผลิตไฟฟ้าจะเปลี่ยนจากยุค Energy 1.0 ที่เน้นพลังงานฟอสซิล มาเป็น Energy 2.0 ที่เน้นพลังงานหมุนเวียนแทน และการผลิตไฟฟ้าจะเปลี่ยนจากระบบรวมศูนย์ (Centralized) ที่เน้นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อความมั่นคง ไปเป็นระบบกระจายการผลิต (Decentralized) ที่เน้นการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กกระจายไปในพื้นที่ ที่เรียกว่าโรงไฟฟ้าชุมชน โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม

 

ส่วนระบบสายส่งก็ต้องมีการพัฒนา (Grid Modernization) โดยปฏิรูปให้เปิดกว้างสำหรับบุคคลที่สาม (Third Party Access-TPA) ที่จะเข้ามาร่วมใช้ได้ รวมทั้งต้องสร้างระบบสายส่งอัจฉริยะ (Smart Grid) เพื่อรองรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก รวมทั้งผู้บริโภคที่ผลิตเพื่อใช้เองและจะขายเข้าระบบถ้าเหลือใช้ อย่างเช่นผู้บริโภคที่จะติด Solar Roof Top เป็นจำนวนมากในอนาคตเอาไว้ด้วย

 

ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การเปิดเสรีของระบบพลังงานไฟฟ้าในบ้านเรา และจะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในอนาคต โดยจะเกิด Power Pool ขึ้นในที่สุด ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และสามารถจะเป็นผู้บริโภคและผู้ผลิตได้ด้วยในเวลาเดียวกัน (Prosumer) นี่คือสิ่งที่จะมา “ดิสรัป” ระบบพลังงานไฟฟ้าบ้านเราในอนาคต จะชอบหรือไม่ชอบ ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แต่จะ “ดี” หรือ “ไม่ดี” อนาคตจะเป็นผู้ตัดสินครับ !!!
มนูญ ศิริวรรณ
9 ส.ค. 2562
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/3i3aPOV