ผลกระทบของ COVID-19 ต่อธุรกิจพลังงานไทย

0
351
สัปดาห์ที่แล้วสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2562 ขยายตัวได้ 1.6% ต่อปี ส่งผลให้เศรษฐกิจปี 2562 ทั้งปีเติบโตได้เพียง 2.4% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 2.6% และเป็นการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี นับจากปี 2557 เป็นต้นมา
สภาพัฒน์ฯยังคาดการณ์อีกว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายตัวในช่วง 1.5-2.5% หรือเฉลี่ย 2% ต่อปี ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี และต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.7-3.7% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าจะรุนแรงและยืดเยื้อนานแค่ไหน
คำถามคือ ถ้าเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำขนาดนี้ จะกระทบกับธุรกิจพลังงานอย่างไร?
อัตราการขยายตัวของความต้องการพลังงานของไทยเป็นสัดส่วนโดยตรงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาแต่ไหนแต่ไรแล้วทั้งน้ำมันและไฟฟ้า ในอัตราส่วนเฉลี่ยที่ 1:1 คือเศรษฐกิจขยายตัว 1% ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น 1%
ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจเติบโตต่ำ ความต้องการน้ำมันและพลังงานก็จะเติบโตต่ำไปด้วย
ในระดับภูมิภาค มีรายงานข่าวว่าเมื่อเดือนที่แล้ว เทรดเดอร์รายใหญ่หลายรายในสิงคโปร์ได้ติดต่อเช่าถังเก็บน้ำมันจากบรรษัทน้ำมันแห่งชาติของเกาหลีใต้เป็นเวลา 3-6 เดือน เพื่อเก็บน้ำมันดิบส่วนเกินมากเกือบ 15 ล้านบาร์เรล หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ coronavirus ในจีน ซึ่งทำให้ความต้องการน้ำมันของประเทศที่บริโภคน้ำมันมากเป็นอันดับสองของโลกแห่งนี้ลดลงอย่างมาก
โดยโรงกลั่นน้ำมันในจีนได้ปรับลดการกลั่นน้ำมันลงไปแล้วมากถึง 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงเวลาเพียงสองสัปดาห์ ทำให้สต๊อคน้ำมันดิบในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากน้ำมันดิบจะล้นตลาดจนกดดันราคาให้ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 13 เดือนแล้ว ความต้องการก๊าซธรรมชาติในจีนยังลดลงเป็นครั้งแรกในรอบสองปี โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ความต้องการก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมลดลง 14% และ 10% ในภาคการผลิตไฟฟ้า ทำให้ความต้องการก๊าซโดยรวมทั้งประเทศลดลง 1% จากปีที่แล้ว และจีนจะนำเข้าก๊าซแอลเอนจีลดลง 3.2% ในปีนี้
เมื่อดูจากเศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบจากพิษของไวรัส COVID-19 แล้ว บ้านเราก็คงมีประสบการณ์ในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือ ความต้องการพลังงานจะลดลงทั้ง น้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า ดังนั้นปีนี้ก็น่าจะเป็นปีที่เลวร้ายอีกปีหนึ่งของธุรกิจพลังงานบ้านเรา โดยเฉพาะธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่ขาดทุนรวมกันหลายหมื่นล้านบาท เพราะค่าการกลั่นตกต่ำมาหลายปีแล้ว อยู่ในระดับเฉลี่ย 2-3 $/bbl. เท่านั้น ตามสูตรราคาอ้างอิงราคานำเข้าจากสิงคโปร์ (Import Parity) นี่แหละ
แต่ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าสูตรราคานี้ทำให้โรงกลั่นบ้านเรากำไรมากไป ต้องเปลี่ยนสูตรราคาอ้างอิงเป็นราคาส่งออก (Export Parity) ถึงจะยุติธรรมต่อผู้บริโภค
สงสัยคงอยากให้โรงกลั่นฯปิดกันให้หมด แล้วพวกตัวจะได้ยึดมาทำเองแบบเวเนซุเอลาหรืออย่างไร !!!.
มนูญ ศิริวรรณ
จากบทความ “พลังงานรอบทิศ” ในนสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 27 ก.พ. 2563
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/2A3T0y8