ธุรกิจผลิตไฟฟ้าในเวียดนามกำลังขยายตัว ทำให้เอกชนไทยแห่เข้าไปลงทุนกันอย่างคึกคัก ช่วงครึ่งปีแรก 2563 มีบริษัทเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของไทยหลายรายที่ประกาศขยายการลงทุนไปที่ประเทศเวียดนาม อาทิ บี.กริม.พาวเวอร์, กัลฟ์, ซูปเปอร์และราชกรุ๊ป นับรวม 10 โครงการทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รวมแล้วร่วม 10,000 MW
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แต่การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ของเวียดนามยังคงคึกคัก เพราะเวียดนามประสบปัญหาเรื่องโควิด-19 น้อยมาก มีผู้ติดเชื้อ 866 คน และจีดีพียังขยายตัวได้ 4-5% จากเดิมที่วางไว้ 6-7% ต้องยอมรับว่าการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในเวียดนามพุ่งแรงมาก จากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่หลั่งไหลเข้าไปในเวียดนามมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
เวียดนามมีการจัดทำแผนแม่บทด้านพลังงานที่ชัดเจนเช่นเดียวกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือแผนพีดีพีของไทย มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี และมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุน จึงทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น
อย่างไรก็ตามการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับเวียดนาม ไม่มีการการันตีการรับซื้อไฟฟ้าไว้ ซึ่งหมายความว่า หากเวียดนามมีไฟฟ้ามากเพียงพอแล้ว อาจปฏิเสธการรับซื้อไฟฟ้าได้ แม้จะมีสัญญา PPA กันอยู่ก็ตาม แตกต่างจากสัญญารับซื้อไฟฟ้าของไทยที่เอกชนมีความเสี่ยงในการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าน้อยมาก เนื่องจากสัญญา PPA มีการการันตีการรับซื้อไฟฟ้าไว้อย่างแน่นอน
ความจริงแล้วการลงทุนผลิตไฟฟ้าในเวียดนามกับในไทยก็ไม่ค่อยมีความแตกต่างกันเท่าไรในแง่ของเงื่อนไขและมาตรการส่งเสริมการลงทุน แต่ที่แตกต่างกันมากและดึงดูดใจนักลงทุนให้ไปลงทุนในเวียดนามกันอย่างคึกคักก็คือ ศักยภาพของความต้องการไฟฟ้าในระยะยาว เนื่องจากเศรษฐกิจของเวียดนามยังมีอัตราการขยายตัวในอัตราสูงและยังขาดแคลนไฟฟ้า
ในขณะที่ไทยการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่า และมีสำรองไฟฟ้าสูงกว่าความต้องการสูงสุดแล้วถึง 40% จึงแทบไม่มีความจำเป็นที่ต้อมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกเลยใน 4-5 ปีข้างหน้า
นอกจากนั้นนโยบาย Enhanced Single-Buyer (ESB) ที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว อาจทำให้ผู้ประกอบการเอกชนไม่มีความคล่องตัวในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเท่าที่ควร จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เอกชนต้องดิ้นรนไปแสวงหาตลาดไฟฟ้าในต่างประเทศ
ดังนั้นถ้าต้องการเปิดเสรีตลาดไฟฟ้าจริงๆ คงจะต้องทำการทบทวนนโยบายนี้กันใหม่ว่ายังเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่หรือไม่!!!.