ความท้าทายของการบริหารสำรองไฟฟ้า

0
965

เมื่อปลายเดือนที่แล้วกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ได้แถลงข่าวเนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ปีแห่งการก่อตั้งกลุ่ม โดยได้พูดถึงการผลักดันนโยบายพลังงานต่างๆในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา และได้แสดงความกังวลถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าขณะนี้ที่สูงถึง 50% จนอาจกระทบกับค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องแบกรับภาระมากขึ้น จึงได้มีข้อเสนอให้แก้ไข เช่น ให้ยุติโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นต้น 

เรื่องนี้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงนั้นเป็นเรื่องของสถานการณ์ในปัจจุบันซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ลดลงตามทิศทางของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจก็จะกลับมาฟื้นตัวและทำให้การใช้ไฟฟ้าจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมได้

นอกจากนี้ ในระยะยาวยังต้องคำนึงถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นว่าจะมีทิศทางอย่างไรประกอบด้วย ทั้งระบบขนส่งที่ไทยจะมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้นถึง 13 สาย และการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต 

ส่วนความกังวลในแง่ของสำรองไฟที่สูงจะมีผลต่อค่าไฟฟ้าที่จะสะท้อนไปยังผู้บริโภคนั้น ในเรื่องนี้เห็นว่าการแก้ไขระยะสั้น กระทรวงพลังงานก็ได้มีนโยบายชัดเจนแล้วในการลดปริมาณไฟฟ้าในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่เดิมได้กำหนดไว้เฟสแรก 700 เมกะวัตต์ภายในปี 2563-64 ก็ให้เหลือแค่ 100-150 เมกะวัตต์เท่านั้น

พร้อมกันนี้ยังได้มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณาโรงไฟฟ้าที่ขณะนี้ไม่ได้ถูกสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพราะเป็นโรงเก่ามีประสิทธิภาพต่ำและจะหมดสัญญาซื้อขายไฟในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ให้มีการปลดระวางโรงไฟฟ้าให้เร็วขึ้นทั้งโรงไฟฟ้าของเอกชนและของ กฟผ.ด้วย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ท่านรัฐมนตรีกล่าวล้วนแต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และไม่แน่ว่าอีกสองปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตจนสามารถรองรับกำลังการผลิตสำรองที่ล้นเหลืออยู่ในขณะนี้ได้ ไม่นับว่าจะยังมีโรงไฟฟ้าใหม่ๆที่จะทะยอยเข้าระบบอีกตามสัญญาที่กฟผ.ไปทำไว้กับเอกชนหรือของกฟผ.เองตามแผน PDP 2018

นอกจากนั้นยังไม่นับกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่รัฐส่งเสริมให้เอกชนและประชาชนผลิตเพื่อการใช้เอง เช่นโครงการโซล่าร์รูฟ หรือโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลต่างๆ ซึ่งนับวันจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะต้นทุนการผลิตต่ำลง และการกักเก็บพลังงานได้มากขึ้นตามเทคโนโลยีที่พัฒนาไป

ดังนั้น เรื่องปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงเกินคงไม่หมดไปง่ายๆภายในสองปีอย่างที่ท่านรัฐมนตรีพูดปลอบใจหรอกครับ !!!

มนูญ ศิริวรรณ

6 ต.ค. 2563