การบริหารนโยบายพลังงานของไทยยังมีจุดอ่อนด้านธรรมาภิบาล

0
2042
การบริหารนโยบายพลังงานของไทยยังมีจุดอ่อนด้านธรรมาภิบาล (หมายเหตุ ๑) เช่น กรณีที่เอกชนบางรายได้ประโยชน์จากนโยบายและการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐในการอนุมัติโรงไฟฟ้าใหม่ หรือองค์กรกำกับดูแลที่แม้มีอำนาจมากตามกฎหมาย แต่ยังไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอในการคุ้มครองผู้บริโภค และวางกฎระเบียบที่โปร่งใสและรักษากติกาอย่างเป็นธรรม เป็นต้น กลุ่ม ERS จึงได้เสนอวิธีแก้ปัญหาด้านธรรมาภิบาลในหลายมิติตามที่ปรากฏใน “แนวทางปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 วันที่ 28 ตุลาคม 2563 “ (หมายเหตุ ๒) โดยสามารถสรุปได้ตามแผนภูมิในโพสต์นี้ ดังนี้
.
• โครงสร้างการกำกับดูแลที่เหมาะสม คือ การแยกการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล และการดูแลผลประโยชน์รัฐในฐานะผู้ถือหุ้น ออกจากกัน เพื่อลดการแทรกแซงโดยมิชอบและแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (อ่านเพิ่มเติมในแนวทางข้อ 3 และ https://www.facebook.com/ERSFellowship/posts/1080120482197959)
.
• การแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ต้องโปร่งใส ได้มาตรฐานสากล และคำนึงถึงข้อควรระวังในการแต่งตั้งข้าราชการ (อ่านเพิ่มเติมในแนวทางข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4)
.
• การบริหารหน่วยงานของรัฐต้องมีความโปร่งใส ในกรณีที่มีการใช้ดุลพินิจ หน่วยงานต้องเป็นกลาง และพร้อมอธิบายเหตุผลว่าการตัดสินใจนั้นๆ เป็นประโยชน์ส่วนรวมอย่างไร (อ่านเพิ่มเติมในแนวทางข้อ 4)
.
• สร้างความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูล อาทิ สมมติฐานในการทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ฐานะการเงินของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เช่นข้อมูลในลักษณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยในแบบ 56-1 รวมทั้งการเปิดเผยรายละเอียดที่มาของค่าไฟฟ้าฐาน เช่น ราคารับซื้อของโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ และการ “Clawback” ซึ่งมีผลต่อการปรับ Ft (อ่านเพิ่มเติมในแนวทางข้อ 4)
.
•ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการที่ปรึกษา รมต.พลังงาน และนำประเทศไทยเข้าร่วมในกลุ่มภาคีเพื่อสร้างความโปร่งใสในกิจการสำรวจและผลิตทรัพยากรธรรมชาติ (ปิโตรเลียมและสินแร่) Extractive Industries Transparency Initiative หรือ EITI ซึ่งได้สมัครไปแล้วในปี 2558 โดยดำเนินการต่อจนถึงขั้นปฏิบัติ เพื่อให้ภาคประชาชนได้มีบทบาทในคณะกรรมการไตรภาคีร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน (อ่านเพิ่มเติมในแนวทางข้อ 4 และข้อ 5)
.
ทั้งนี้ ERS เห็นว่าโครงสร้างตลาดพลังงานซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพในการผลิตและบริการอันเป็นต้นทุนต่อผู้บริโภคนั้น ยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมธรรมภิบาลด้วย จึงถือว่านโยบายด้านนี้อยู่ในหมวดธรรมาภิบาลด้วย ดังนี้
.
• ราคาพลังงานควรจะสะท้อนต้นทุน และไม่บิดเบือนกลไกตลาด เพื่อป้องกันการทำนโยบายประชานิยมเพื่อประโยชน์ทางการเมืองซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและเป็นช่องทางการทุจริตได้ ทั้งนี้ สามารถดูแลเฉพาะกลุ่มผู้ยากจนผ่านบัตรคนจนได้ (อ่านเพิ่มเติมในแนวทางข้อ 2)
.
•เพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงาน เพื่อลดอำนาจของรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดและเป็นแหล่งขุมทรัพย์อันสุ่มเสี่ยงต่อการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อาทิ การ “เปิดเสรี” หรือการให้บุคคลที่สามมีสิทธิใช้สายส่งไฟฟ้า (Third Party Access หรือ TPA) และการเพิ่มผู้นำเข้า LNG หลังจากที่ได้มีการเปิด TPA ท่อก๊าซธรรมชาติซึ่ง ERS เสนอไว้ในแนวทางปฏิรูปฯ ครั้งแรกในปี 2557 และได้มีส่วนในการผลักดันสำเร็จไปแล้ว (อ่านเพิ่มเติมในแนวทางข้อ 3)
.
อนึ่ง การจำกัดขนาดและบทบาทภาครัฐเท่าที่จำเป็น นอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพการดำเนินงานสูงขึ้นแล้ว ยังจะลดโอกาสของการทุจริตคอร์รัปชันอีกด้วย ERS จึงไม่เห็นด้วยกับที่เคยมีการเสนอให้ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ แต่ ERSกลับเสนอให้ลดอำนาจเหนือตลาดของรัฐวิสาหกิจพลังงานและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทั้งในกิจการปิโตรเลียมและไฟฟ้า
.
หมายเหตุ
๑. ปัญหาธรรมาภิบาลในเอกสารแนวทางฯ ERS (หน้า 4-5)
๒. แนวทางปฏิรูปพลังงาน ของ ERS ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 http://bit.ly/2HYWRjR ซึ่งเอกสารมีเค้าโครงดังนี้
๒.๑ ความเป็นมาของ ERS และความคืบหน้าในแนวทางฯ หน้า1-2
๒.๒ ปัญหาของภาคพลังงานไทย หน้า 2-6
๒.๓ ข้อเสนอการปฏิรูปพลังงาน :
1) การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน หน้า 6-8
2) เพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงาน หน้า 8-9
3) ลดการแทรกแซงโดยมิชอบและแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน้า 9-10
4) กระบวนการในการกำหนดนโยบาย หน้า 10-12
5) การผลิต การสำรวจ พัฒนาและจัดหาแหล่งพลังงาน หน้า 12-14
6) การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด หน้า 14-16
ℹ️ อ่านข้อเสนอ ERS ฉบับเต็มได้ที่ http://bit.ly/2HYWRjR