พรบ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 14 (1) ว่า ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีหน้าที่เสนอแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดทำแผนดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 (2) คือสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
อะไรคือแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง
ตามคำจำกัดความในพรบ.ฉบับนี้ “วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง” หมายถึงสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือผันผวนจนอาจเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน หรือ สถานการณ์ที่น้ำมันเชื้อเพลิงอาจขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ
เมื่อดูตามคำจำกัดความในพรบ.ฉบับนี้แล้ว ผมมีความเห็นว่า การจะกำหนดว่าเวลาใดหรือสถานการณ์ใดได้เกิดภาวะ “วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง” ขึ้นแล้ว ย่อมต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสี่ประการ คือ 1.ราคาสูงขึ้นมากอย่างรุนแรง 2.สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 3.สูงขึ้นมากจนกระทบต่อการครองชีพของประชาชน 4.สูงเกินราคาที่ใช้เป็นราคาอ้างอิงในกรณีปกติ
สถานการณ์ดังกล่าวน้ำมันอาจไม่ขาดแคลนก็ได้ แต่ราคาสูงขึ้นตามสถานการณ์ในตลาดโลก เช่นเกิดความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ อย่างประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำให้ราคาน้ำมันขึ้นไปวันเดียว 10 $/bbl. เป็นต้น และต่อเนื่องยาวนาน จนมีผลกระทบกับค่าครองชีพของประชาชน
หรือในกรณีเกิดสงครามในตะวันออกกลางและมีการปิดกั้นเส้นทางลำเลียงน้ำมันทางเรือ เช่นปิดช่องแคบฮอร์มุซ กรณีอย่างนี้น้ำมันอาจขาดแคลน ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง รวดเร็ว และหาซื้อได้ยากด้วย ซึ่งก็เข้าข่ายภาวะ “วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง” เช่นเดียวกัน
ดังนั้นแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงจึงต้องร่างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าวเป็นหลัก โดยต้องมีหลักเกณฑ์และรายละเอียดชัดเจนที่จะบอกได้ว่า ขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์วิกฤตการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นแล้วหรือยัง และถ้าเกิดขึ้นแล้วจะมีหลักปฏิบัติในการใช้จ่ายเงินกองทุนน้ำมันฯเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์นั้นอย่างไร ขอบเขตการใช้จ่ายเงินอุดหนุนจะทำได้แค่ไหน และต้องมียุทธศาสตร์ในการถอนตัว (Exit Strategy) เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เพราะอย่าลืมว่าพรบ.ฉบับนี้ได้กำหนดเพดานสูงสุดที่กองทุนฯจะใช้เงินอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงไว้ที่ 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น (รวมวงเงินกู้ไม่เกิน 2 หมื่นล้าน)
จะเห็นได้ว่าพรบ.น้ำมันเชื้อเพลิงฉบับนี้ร่างขึ้นเพื่อปิดช่องโหว่เดิมในคำสั่งนายกรัฐมนตรีจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ ตามพรก.ป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เปิดกว้างมากจนกองทุนน้ำมันฯทำได้สารพัด และตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองในการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯไปตรึงราคาและอุดหนุนราคาพลังงานต่างๆตามใจชอบ จนเกิดนโยบายประชานิยมด้านพลังงาน
วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่สนง.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะได้ร่างแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่สมบูรณ์ไว้เป็นแนวทางให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป
ซึ่งถ้าคณะกรรมการฯไม่ปฏิบัติตามแผนฯ ย่อมมีสิทธิ์ถูกผู้บริโภคน้ำมันที่เป็นเจ้าของเงินฟ้องร้องได้ครับ !!!
มนูญ ศิริวรรณ
14 มิ.ย. 2562
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://1th.me/7mpnG