เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) พระเอกคนใหม่แห่งโลกพลังงาน

0
347
ปัจจุบันประเทศไทย ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 70 ซึ่งการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่สูงเกินไปกลายเป็นจุดอ่อนและเกิดความเสี่ยง เนื่องจากกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยมาถึงจุดสูงสุดแล้วและกำลังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคา
ดังนั้น ในแผน PDP ฉบับปัจจุบัน จึงต้องมีการปรับสมดุลพลังงานด้วยการลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติลงเหลือร้อยละ 30-40 ภายในปี 2579 และปรับเพิ่มพลังงานทางเลือกอื่น เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ ถ่านหิน ซึ่งมีราคาถูกและได้รับการพัฒนาจนเป็นถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 20 – 25 ส่วนพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 20 และซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 15-20
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบดีว่าการผลักดันเชื้อเพลิงถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด ยังมีความล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้อยู่มาก เนื่องจากต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย ส่วนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีความมั่นคงระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางการทูตในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย ดังนั้น พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและสามารถผลิตได้เองในประเทศ จึงถือเป็นพระเอกของวงการที่ช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน ยังมีข้อด้อยคือ มีความเสถียรต่ำกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และผันแปรไปตามสภาพอากาศ
สำหรับประเทศไทย มีการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเป็นเวลานานแล้ว โดยภาครัฐมีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในหลากหลายรูปแบบ อาทิ พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ ตั้งเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน จากปัจจุบันที่ร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 20 ของปริมาณความต้องการไฟฟ้ารวมของประเทศในปี 2579 รวมกําลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประมาณ 19,634.4 เมกะวัตต์ ดังนั้น เพื่อให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานทดแทน มีความมั่นคง มีคุณภาพและเสถียรภาพมากขึ้น จำเป็นต้องมีผู้ช่วยพระเอกอย่าง “เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน” มาช่วยเสริมให้ระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพและมีความสมดุลมากขึ้น
เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems : ESS) หรือที่รู้จักกันดี คือ แบตเตอรี่หรือเพาเวอร์แบงก์ขนาดใหญ่ นับเป็นเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นสำหรับระบบไฟฟ้าในอนาคต มีหน้าที่หลักคือ กักเก็บสะสมพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้ เพื่อนำมาใช้ในยามจำเป็น สำหรับรักษาสมดุลของการผลิตกับการบริโภคพลังงานที่เกิดขึ้น โดยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานสำหรับโรงไฟฟ้า ช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีเสถียรภาพมากขึ้น และ 2.เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า ได้แก่ บ้านพักอาศัย อาคารสำนักงาน เพื่อใช้บริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าของตัวเอง กล่าวคือ ระบบสามารถกักเก็บไฟฟ้าในช่วงการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ และนำไฟฟ้าไปจ่ายช่วงที่มีต้นทุนสูง ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเลือกที่จะใช้ไฟฟ้าที่เก็บสะสมไว้แทนการซื้อไฟจากระบบในช่วงพีก เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ เป็นต้น นอกจากนี้ บทบาทสำคัญอีกประการคือ ช่วยสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) โดยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานสามารถตอบโจทย์ข้อจำกัดของแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ให้สามารถใช้งานได้ในระยะทางที่ไกลมากขึ้น
ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ รวมถึงเร่งวิจัย-พัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานเพื่อปรับปรุงข้อจำกัดของเทคโนโลยี และเพื่อให้ต้นทุนราคาต่ำลง สำหรับประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญและเร่งส่งเสริมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานอย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้สนับสนุนให้มีการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในด้านต่างๆ โดยนำร่องการใช้งานในด้านความมั่นคงและเมื่อเกิดภัยพิบัติ ใช้สำรองไฟในนิคมอุตสาหกรรม การกักเก็บไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน ในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสร้างฐานการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานให้มีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ในระยะยาว
การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ นอกจากต้องมีการกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้มีความหลากหลาย ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพลังงานชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ยังจำเป็นต้องมีการแสวงหาและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มเสถียรภาพด้านพลังงาน และนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตอบโจทย์การก้าวสู่การเป็น Thailand 4.0
ทิศทางประเทศไทย : เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน
(Energy Storage Systems) พระเอกคนใหม่แห่งโลกพลังงาน
บทความจาก : หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์
ฉบับวันพุธที่ 23 กันยายน 2560

สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://www.facebook.com/notes/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%99-ers/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99-energy-storage-systems-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99/708534962689848/