วิกฤติ COVID 19 : ทางเลือกระหว่างรักษาชีวิตกับความอยู่รอด

0
329
วิกฤติ COVID 19 : ทางเลือกระหว่างรักษาชีวิตกับความอยู่รอด
โดย ดร. คุรุจิต นาครทรรพ
ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
อดีตประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน สปท.
21 เมษายน 2563
————————————————————————————————————
วันนี้ คงต้องขอออกนอก theme พลังงานหรือลดโลกร้อนสักครั้ง เพราะวิกฤติจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (หรือ COVID 19) ได้ทวีความรุนแรงไปทั่วโลก จนฝรั่งใช้ศัพท์เรียกวิกฤตินี้ว่า pandemic คือเป็นการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางและรุนแรง โดย ณ วันที่ 20 เมษายน 2563
พบผู้ติดเชื้อที่กระจายอยู่ในทุกทวีปและทุกประเทศทั่วโลกแล้ว 2,481,287 คน และมีผู้เสียชีวิตไปเพราะโรคนี้แล้ว 170,436 คน สำหรับประเทศไทยของเราล่าสุดพบผู้ติดเชื้อ COVID 19 สะสม 2,792 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ไปแล้ว 47 คน รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการป้องกันที่เข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการควบคุมและเฝ้าระวังเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดมิให้ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูงจนเกินขีดความสามารถที่ระบบสาธารณสุขของไทยจะรองรับได้ ตั้งแต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร กรุงเทพมหานครก็ได้ออกประกาศปิดสถานที่ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงมหรสพ รวมทั้งมีการออกข้อกำหนดห้ามออกนอกเคหสถาน (partial curfew) ตั้งแต่เวลา 4 ทุ่มถึงตี 4 ของทุกวัน ผลกระทบของโรค COVID 19 มีต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมากที่จำต้องเก็บตัวอยู่กับบ้านตามนโยบายของรัฐบาล ใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และทำความสะอาดมือและสิ่งรอบตัวด้วยการล้างมือหรือพ่นแอลกอฮอล์ แต่ที่มากยิ่งไปกว่านั้นก็คือผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับบุคคล ครัวเรือน และระดับมหภาคของประเทศ
ในแง่ผลกระทบด้านพลังงาน แม้เพียงในช่วงเวลาสั้น ๆ แค่กว่าหนึ่งเดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคมมาจนถึงกลางเดือนเมษายน 2563 เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันทุกชนิดลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว และต่ำมากที่สุดในรอบสิบห้าปี เพราะการเดินทางทั่วโลกที่ต้องหยุดชะงัก น้ำมัน Jet fuels สำหรับเครื่องบินก็ราคาตกและมีปริมาณล้นถังในคลังเก็บ เพราะสายการบินทั่วโลกต่างยกเลิกเที่ยวบิน เนื่องมาจากมาตรการห้ามเดินทางของหลาย ๆ ประเทศ ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยปรับตัวลดลงทั้งประเภทแก๊สโซฮอล์และดีเซล แม้กระนั้นก็ยังไม่ค่อยมีรถไปแย่งกันเติมน้ำมัน เพราะมาตรการ
work from home กับ partial curfew ทำให้คนขับรถไปไหนมาไหนไม่ได้ ถนนโล่ง จราจรไม่ติดขัด
สภาพมลภาวะทางอากาศในเมืองรวมทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยาดูสะอาดและดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และปีนี้คงจะเป็นปีแรกในรอบหลายสิบปี ที่ตัวเลขทั้งการใช้น้ำมันและการใช้ไฟฟ้าของไทย ลดลงสวนทางกับอดีตที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ถึงแม้ว่าชาวบ้านที่อยู่บ้านเพราะมาตรการจำกัดการเดินทางของคนและ work from home
หรือตกงานก็ตามแต่ จะรู้สึกว่าบิลค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพราะใช้แอร์นานขึ้น ทำกับข้าวโดยเปิดเตาไมโครเวฟ
หรือหม้อต้ม/ หม้อตุ๋นไฟฟ้ามากขึ้น เก็บอาหารใส่และเปิดตู้เย็นบ่อยขึ้น จึงทำให้หน่วยใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนสูงขึ้นก็ตาม แต่เมื่อหักกลบลบกับการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว โรงแรม และอาคารสำนักงานที่ลดลงไปอย่างมากแล้ว การเติบโตของความต้องการไฟฟ้าของไทย ในรอบเดือนมีนาคม/ เมษายน 2563 นี้ติดลบ
ในบทบรรณาธิการของนิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 4-10 เมษายน 2563 ได้กล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากวิกฤติโรค COVID 19 ที่มีไปทั่วโลกว่า แต่ละประเทศมีแนวคิดในการแก้ปัญหาที่อาจแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ล้วนมุ่งเพื่อรักษาชีวิตคนไม่ให้เจ็บป่วยและล้มตายไปแบบก้าวกระโดด รวมทั้งต้องหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคนี้ไว้ให้ได้ตราบใดที่เรายังผลิตยามารักษา หรือยังทำวัคซีนมาฉีดป้องกันไม่ได้
มีการเปรียบเทียบว่า หากในโรงพยาบาลมีเครื่องช่วยหายใจเพียงเครื่องเดียว แต่มีผู้ป่วยหนักด้วยโรค COVID 19 หรือโรคอื่น ๆ ที่ต้องการเครื่องช่วยหายใจมากกว่าหนึ่งคน สุดท้ายแล้วแพทย์ก็คงต้องตัดสินใจว่าจะช่วยชีวิตผู้ป่วยคนใดให้อยู่รอด และปล่อยให้ผู้ป่วยอื่นที่เหลือต้องล้มหายตายจากกันไป มาตรการ lockdown และห้ามการเดินทาง ปิดร้านรวง ก็เป็นผลกระทบที่ต้องนำมาชั่งน้ำหนักกับมาตรการควบคุมโรคด้วยเหมือนกัน เพราะธุรกิจที่ต้องล้มละลายหรือสิ้นเนื้อประดาตัว คนที่ตกงานและขาดรายได้ การไม่มีจะกิน บ้านก็ต้องเช่า ข้าวก็ต้องซื้อ รถก็ต้องผ่อน ลูกก็ต้องส่งเรียนหนังสือ จะทำให้คนต้องจนลง และเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมให้หนักขึ้นไปอีก The Economist เสนอว่าในการ trade offs ระหว่างมาตรการควบคุมการระบาด
กับการดูแลเศรษฐกิจ รัฐบาลควรมีการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และเป้าหมายที่ชัดเจนว่าแต่ละมาตรการเราทำไปเพื่อเป้าหมายอะไร จะเกิดผลกระทบอย่างไร และจะต้องใช้ทรัพยากรสักเท่าใดและอย่างไรมาบรรเทาผลกระทบนั้น ดังนั้น เมื่อเราบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ แล้วเห็นผล จะปรับยุทธวิธีผ่อนคลายได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้คนส่วนใหญ่พออยู่ได้และพอรับได้ ระบบสาธารณสุขเรามีพร้อมที่จะรับมือกับโรคนี้เต็มที่ที่สุด เพียงใด ประชาชนส่วนใหญ่จะสามารถมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาตามธรรมชาติได้หรือไม่ และเราจะพัฒนาวิธีรักษาแบบผสมผสานเพื่อยับยั้งความรุนแรงและสถิติของการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ไหม… มาตรการช่วยเหลือคนตกงานในรอบแรกอย่างไรเสียก็ไม่เพียงพอ เราจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบสองได้อย่างไร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และผลิตสินค้าหรือบริการใดที่เราควรอุ้มชู และอัดฉีดเงินช่วยให้กลับมายืนอยู่ได้หลังวิกฤตินี้ผ่านไป เพื่อให้คนได้กลับมามีงานทำ และเศรษฐกิจฟื้นตัวได้
หากเก็บตัวต่อไปเรื่อย ๆ นานถึงครึ่งปีไปแล้ว มนุษย์ก็ยังหายามารักษาหรือทำวัคซีนมาป้องกันโรคนี้ไม่ได้
การ lockdown เป็นแรมเดือนจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจจะหดตัวและขีดความสามารถในการพัฒนาคิดค้นของมนุษย์ก็จะถดถอย สังคมและรัฐจึงพึงช่วยกันขบคิดว่า ต้นทุนของการควบคุมเพื่อสุขภาพ จะแพงเกินกว่าคุณค่าของชีวิตและความอยู่รอดของผู้คนที่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว หรือยัง? และเมื่อนั้นการเสียสละเพื่อให้ส่วนใหญ่อยู่ได้ ก็คงต้องเป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องเลือก แม้จะยากลำบากในการตัดสินใจสักเพียงใดก็ตาม
ท้ายที่สุด ในนิตยสารฉบับเดียวกัน ยังแนะนำหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาในการสื่อสารสาธารณะของ Daniel Kahneman ชื่อว่า “Thinking, Fast and Slow” ที่ได้ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจสำหรับผู้ที่มีหน้าที่เป็นโฆษกในการสื่อสารอธิบายมาตรการหรือนโยบายของรัฐออกไปสู่ประชาชนว่า ควรสื่อสารอย่างกระชับและเข้าใจง่าย โดยจะใช้วิธีใดระหว่าง พูดกระตุ้นให้เห็นในทางบวก หรือพูดเน้นให้ปฏิบัติตามด้วยการชี้ผลเสียในทางลบ
แต่ละประเทศอาจมีลีลาการสื่อสารสาธารณะ ที่แตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะบอกอะไรออกไปแก่ประชาชน messages ที่สื่อสารนั้นจะต้องไม่สับสนหรือเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และควรคำนึงถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละประเทศด้วย ยกตัวอย่างเช่น เราจะบอกให้ประชาชนอยู่บ้าน (stay home) เพราะอะไร? โฆษกอาจจะสื่อสารทางบวกว่า ทำเพื่อให้พวกท่านปลอดภัย (to be safe) หรือสื่อสารทางลบว่า ทำเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด (to stop coronavirus spreading) ซึ่งอันหลังอาจจะให้ความรู้สึกว่าผู้ที่ติดโรคแล้วไม่ควรออกไปนำโรคนี้ติดสู่ผู้อื่น เป็นต้น คนส่วนใหญ่มักจะมีสัญชาตญาณที่จะเลือกทำสิ่งที่คิดว่าปลอดภัยที่สุดหรือมีคุณธรรมที่สุดจากการฟังเรื่องหรือเล่าสมมุติฐานที่ไปถามเขา … The Economist ยกตัวอย่างการตั้งสมมุติฐานเรื่องวิธีแก้ปัญหาโรคระบาดในชุมชนหรือเมืองสักแห่งหนึ่งขึ้นมาว่า …ขณะนี้มีโรคระบาดชนิดใหม่ที่อาจคร่าชีวิตผู้คนในชุมชนนั้นสูงถึง 600 คน … ในการนำเสนอวิธีแก้ในครั้งแรก (first scenario) เจ้าเมืองมีทางเลือก 2 ทาง (options) ดังนี้ : ถ้าเลือกวิธีการ A จะช่วยชีวิตคนไว้ได้ 200 คน แต่ถ้าเลือกวิธีการ B ก็จะมีความเป็นไปได้ 33.33%
ที่เราจะช่วยชีวิตคนไว้ได้ทั้งหมด 600 คน แต่ก็มีความเป็นไปได้ 66.67% ที่เราจะไม่สามารถรักษาชีวิตคนทั้งหมดไว้ได้เลย … ในการนำเสนอครั้งที่สอง (second scenario) เจ้าเมืองก็มีทางเลือก 2 ทางเช่นกัน คือ:
ถ้าเลือกวิธีการ C จะต้องมีคนในชุมชน 400 คนที่ต้องตายไปเพราะโรคนี้ แต่ถ้าเลือกวิธีการ D ก็จะมีโอกาส
1 ใน 3 ที่จะไม่มีใครตายเลยสักคน และมีโอกาส 2/3 ที่คนทั้ง 600 คนนั้นจะตายไป … คนส่วนใหญ่ที่มีจิตใจดีและตัดสินใจโดยถือสัญชาตญาณเป็นเกณฑ์ ก็มักจะเลือกวิธีการ A (ในการนำเสนอรอบแรก) และเลือกวิธีการ D (ในการนำเสนอรอบที่ 2) ที่เป็นเพราะวิธีชงทางเลือกนั้นขึ้นมาเป็นคำถาม แต่หากเราได้หยุดคิดและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบสักนิด ก็จะพบว่า ทางเลือก A ของการนำเสนอรอบแรก กับทางเลือก C ของการนำเสนอรอบที่ 2 คือทางเลือกอันเดียวกัน (เช่นเดียวกับทางเลือก B ก็เหมือนกับทางเลือก D) นี่คือบททดสอบให้เห็นว่า
การสื่อสารสาธารณะในยามวิกฤติเรื่องโรคระบาดของภาครัฐมีความสำคัญ และควรตั้งกรอบของข้อความที่จะสื่อสารไปในเชิงบวก เพื่อให้ผู้ฟังเห็นด้วยและคล้อยตาม
ขอให้พวกเราทุกคนจงอยู่บ้าน ช่วยชาติ และหาอะไรทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมชาติ และช่วยกันประคับประคองให้เราผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกันครับ

สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/2YwAIim