ราคาน้ำมันลงมาต่ำสุดหรือยัง?

0
296
สัปดาห์ที่แล้วราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นเป็นสัปดาห์แรกหลังจากลดลงติดต่อกัน 5 สัปดาห์ สู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 13 เดือน นับจากเดือนธันวาคม ปี 2561 เป็นต้นมา ช่วงต่ำที่สุด WTI หลุดแนวรับสำคัญทางเทคนิคที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐ/ บาร์เรล ในขณะที่ Brent และ Dubai ก็หลุดแนวรับสำคัญที่ 54 ดอลลาร์สหรัฐ/ บาร์เรล จนทำให้นักลงทุน/ นักวิเคราะห์เริ่มตั้งข้อสงสัยว่าราคาน้ำมันดิบลงมาถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง
ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนตั้งแต่ต้นปีโดยหลังปีใหม่ราคาได้พุ่งขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ 65.65 และ 71.75 ดอลลาร์สหรัฐ/ บาร์เรล สำหรับน้ำมันดิบ WTI และ Brent ตามลำดับ จากวิกฤติทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านแต่ก็จบลงอย่างรวดเร็วจนราคาน้ำมันลดลงมาสู่ระดับปกติที่ 55-60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ต่อมาราคาน้ำมันก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค Coronavirus จากเมืองอู่ฮั่นในจีน (ซึ่งได้ชื่อใหม่จากองค์การอนามัยโลกคือ Covid-19) จนกลายเป็นวิกฤติเชื้อไวรัสที่ระบาดไปมากกว่า 24 ประเทศทั่วโลก และทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลงไปแล้วมากกว่า 25% จากระดับสูงสุดเมื่อต้นเดือนมกราคม
คำถามก็คือราคาน้ำมันได้ลดลงมาถึงจุดต่ำสุดหรือยัง? และถ้าเป็นนักลงทุน สมควรเข้ามาซื้อสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าหรือกองทุนที่ลงทุนในน้ำมันแล้วหรือไม่? แน่นอนว่าจะตอบคำถามนี้ได้ ต้องตอบคำถามต่อไปนี้ให้ได้เสียก่อน คือ
1. การระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว จะถูกควบคุมได้หรือสิ้นสุดลงเมื่อใด จะจบเร็วหรือยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน เพราะถ้ายิ่งลากยาวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจโลกก็จะยิ่งสูงขึ้น
2. ไม่ว่าจะจบลงได้เร็วหรือช้า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบมากที่สุดในโลกจะเป็นอย่างไร และจีนมีมาตรการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างไร
3. ท่าทีของกลุ่มโอเปกที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย และพันธมิตรที่นำโดยรัสเซีย (OPEC+) เพื่อรับมือกับราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงจะเป็นอย่างไรเพราะคาดว่าการจัดหาน้ำมันจะล้นตลาด เนื่องจากความต้องการที่ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเชื้อไวรัสนี้
4. การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐอเมริกาจะยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่ทำให้สต๊อกน้ำมันดิบโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ และ 5. สถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง จะกลับมารุนแรงขึ้นอีกหรือไม่… จะเห็นได้ว่าคำถามทั้ง 5 ข้อนี้ ล้วนแต่มีความไม่แน่นอนสูงมาก โดยขณะนี้มีการตั้งสมมุติฐานว่าผลกระทบจากวิกฤติไวรัสต่อเศรษฐกิจ และความต้องการน้ำมันของจีนในไตรมาส 1 ปีนี้จะค่อนข้างสูง โดยจะลดลงถึง 3 ล้านบาร์เรล/ วัน ส่วนท่าทีของโอเปกและพันธมิตร (OPEC+) ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะลดปริมาณการผลิตลงอีก 600,000 บาร์เรล/ วัน ตามที่คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee-JTC) แนะนำหรือไม่ เพราะรัสเซียยังมีท่าทีไม่เห็นด้วย ส่วนการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ถึงแม้จะเพิ่มในอัตราที่ชะลอตัวลงโดยเฉพาะในแหล่ง Permian Basin ที่เป็นแหล่งผลิต Shale Oil ที่สำคัญของสหรัฐ (40% ของการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 800,000 บาร์เรล/ วัน จากปีที่แล้วสู่ระดับ 5.2 ล้านบาร์เรล/ วันในปีนี้

จากเหตุผลทั้งหมดผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าราคาน้ำมันดิบยังไม่ถึงจุดต่ำสุดครับ!!!.

มนูญ ศิริวรรณ

จากบทความ “พลังงานรอบทิศ” ในนสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 20 ก.พ. 2563
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/3g0mRXM