ประเมินภาพพลังงานไทยในอนาคต

0
396
“ผลการประเมิน…………..สรุปได้ว่าประเทศไทยควรมีแนวโน้มที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่สูงขึ้นมากกว่าที่เดิมเคยคิดกันไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เซลล์แสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆในการผลิตไฟฟ้า”
ในอนาคต 20 – 30 ปีข้างหน้า ประเทศไทยควรใช้เชื้อเพลิงชนิดไหนอย่างไร? เราคงอยากได้ใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูก มีต้นทุนต่ำ มีปริมาณให้ใช้อย่างเพียงพอ อย่างต่อเนื่องและอย่างแน่นอนมั่นคง ซื้อหาได้ง่าย ถ้าประเทศสามารถผลิตได้เองก็ยิ่งดี หรืออย่างน้อยเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เราต้องการเชื้อเพลิงที่สะอาด มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอันเป็นผลต่อภาวะโลกร้อน นอกจากนั้นจะต้องเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ได้อย่างปลอดภัย
คงไม่มีเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามความต้องการที่กล่าวไปแล้วทั้งหมด เราคงต้องเลือกใช้เชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ผสมผสานกันไปเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้มากที่สุด เพราะเชื้อเพลิงแต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียไม่เหมือนกัน
ก๊าซธรรมชาติในปัจจุบันเป็นเชื้อเพลิงที่เราใช้มากที่สุดในประเทศ มีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ คือมีราคาค่อนข้างถูก เพราะประเทศสามารถผลิตได้เองเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งเป็นเชื้อเพลิงที่ค่อนข้างสะอาดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ นอกจากใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ในโรงงานอุตสาหกรรม และในยานยนต์แล้ว ยังสามารถแยกส่วนออกมาใช้เป็นก๊าซหุงต้ม และเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้อีกด้วย
ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศยังมีประโยชน์อีกสองประการ คือก่อให้เกิดรายได้เข้ารัฐในรูปของค่าภาคหลวง และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม นอกจากนั้น การสำรวจและผลิตก๊าซยังก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานสำหรับคนไทยทั้งโดยตรงและในธุรกิจต่อเนื่องต่างๆในประเทศอีกด้วย
ถึงแม้ว่าเราจะสามารถค้นหาและผลิตก๊าซธรรมชาติได้เองในประเทศ แต่ก็มีปริมาณไม่เพียงพอต่อการใช้ จึงจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซจากเมียนมาร์และนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG จากตะวันออกกลาง
คาดว่าในอนาคตจะมีการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศในปริมาณที่ลดลงเพราะปริมาณสำรองลดลงมาโดยตลอด และหากจะต้องใช้ก๊าซอีกต่อไป ก็จะต้องพึ่งพา LNG นำเข้ามากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ประเทศสูญเสียเงินตราต่างประเทศมากขึ้น และต้องซื้อก๊าซนำเข้าในราคาที่แพงกว่าก๊าซในประเทศ
เชื้อเพลิงที่มีความสำคัญเป็นที่สองรองจากก๊าซธรรมชาติก็คือน้ำมันปิโตรเลียม ส่วนใหญ่ (คือกว่า 90%) ของน้ำมันที่เราใช้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ไทยสามารถผลิตน้ำมันเองได้น้อยมาก เรานำเข้าน้ำมันในรูปของน้ำมันดิบเพื่อเอามากลั่นในประเทศเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันชนิดต่างๆ เช่น เบนซิน ดีเซล และก๊าซหุงต้ม เราใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันส่วนใหญ่เป็นเชื้อเพลิงเพื่อขับเคลื่อนยานยนต์ในการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
ข้อดีของน้ำมันก็คือเป็นเชื้อเพลิงที่หาซื้อได้ง่าย และมีปริมาณในตลาดโลกที่เพียงพอต่อการใช้เสมอ แต่น้ำมันก็มีข้อเสียที่ว่าเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างมลภาวะและก๊าซเรือนกระจกจากการเผาผลาญน้ำมันในยานยนต์และเครื่องจักรกลชนิดต่างๆ นอกจากนั้น ราคาน้ำมันยังมีความผันผวนมาก และยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าราคาน้ำมันในอนาคตจะสูงต่ำมากน้อยเพียงใด แต่สำหรับประเทศไทยไม่ว่าน้ำมันจะถูกหรือแพง เราก็ต้องใช้เงินตราต่างประเทศปีละหลายแสนล้านบาทเพื่อซื้อน้ำมันจากต่างประเทศทุกปี
เราสามารถผลิตน้ำมันชีวภาพจากอ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เพื่อทดแทนน้ำมันนำเข้าได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้นทุนการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลของไทยยังสูงกว่าราคาน้ำมันโลก จึงต้องอาศัยเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าน้ำมันชีวภาพเหล่านี้จะมีข้อดีที่ว่าใช้วัตถุดิบในประเทศและเสริมรายได้ให้เกษตรกร แต่ก็ต้องถือว่าไม่ช่วยให้ประหยัดเงินตราต่างประเทศเพราะยังแข่งขันกับน้ำมันนำเข้าไม่ได้
ประเทศไทยใช้ถ่านหินลิกไนต์และถ่านหินนำเข้าในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ลิกไนต์เป็นถ่านหินคุณภาพต่ำที่เรามีอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมาก และใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่แม่เมาะเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่สามารถใช้ได้มากกว่านี้แล้วเพราะสกปรกเกินไป เราหันมาใช้ถ่านหินนำเข้ามากขึ้นทั้งในโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมเพราะสกปรกน้อยกว่าลิกไนต์และราคาค่อนข้างถูก แต่ก็ต้องยอมรับว่าการใช้ถ่านหินนำเข้าเป็นเชื้อเพลิงก็ยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในระดับที่เป็นผลเสียต่อปัญหาภาวะโลกร้อน
เชื้อเพลิงที่เหลือคือพลังงานหมุนเวียนชนิดต่างๆ ที่สะอาด ได้แก่ พลังน้ำ เชื้อเพลิงชีวมวล/ชีวภาพจากวัสดุการเกษตรและขยะ พลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานลม
การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำในประเทศมีโอกาสเพิ่มขึ้นน้อยมากเพราะเราไม่มีพื้นที่สำหรับสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว แต่เรายังมีโอกาสซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านได้เพิ่มขึ้นอีก ไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านมีข้อดีตรงที่ว่ามีราคาถูก แต่ความเสี่ยงย่อมมีมากขึ้นเมื่อเราต้องพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากจนเกินไป
วัสดุการเกษตร เช่น แกลบ กากอ้อย และเศษไม้ ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้ เป็นวัตถุดิบที่หาได้ในประเทศ แต่ก็มีปริมาณที่จำกัดและมีลักษณะที่กระจัดกระจาย ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหล่านี้ยังค่อนข้างสูง และต้องอาศัยเงินอุดหนุนในระดับหนึ่ง
พลังงานหมุนเวียนที่มาแรงที่สุดในขณะนี้คือพลังงานจากแสงอาทิตย์และลม การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ (PV) มีต้นทุนลดลงถึง 70% ในช่วงเวลาห้าปีที่ผ่านมา ทำให้ไฟฟ้าจาก PV และกังหันลมมีต้นทุนที่แข่งขันได้กับโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานนิวเคลียร์แล้ว
ข้อเสียของการใช้พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ก็คือ เราต้องอาศัยเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำคัญๆ ที่นำเข้าจากต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมยังไม่ต่อเนื่อง คือผลิตไฟได้เฉพาะในช่วงที่มีแดดและมีลมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (เช่น แบตเตอรี่) รวมทั้งวิธีการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าที่ทันสมัยสามารถทำให้หลายประเทศพึ่งพาเซลล์แสงอาทิตย์และกังหันลมในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงขึ้นได้โดยไม่มีปัญหาด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า
ผลการประเมินข้อดีข้อเสียของเชื้อเพลิงต่างๆ พอสรุปได้ว่าประเทศไทยควรมีแนวโน้มที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่สูงขึ้นมากกว่าที่เดิมเคยคิดกันไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เซลล์แสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆในการผลิตไฟฟ้า
ในอีก 20 ปีข้างหน้าการใช้พลังงานหมุนเวียน (รวมพลังน้ำในประเทศ) เพื่อผลิตไฟฟ้าน่าจะสูงถึง 40% เมื่อเทียบกับแผน PDP2015 ที่กำหนดไว้เพียง 20% แนวโน้มนี้นอกจากจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำแล้ว ยังจะมีส่วนทำให้โลกสะอาดขึ้นอีกด้วย
ที่มา : ทิศทางประเทศไทย : ประเมินภาพพลังงานไทยในอนาคต
บทความจาก : หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์
ฉบับวันที่ : 1 พฤศจิกายน 2560