ความขัดแย้งอิหร่าน-สหรัฐอเมริกาและผลกระทบต่อราคาน้ำมัน

0
321
ผ่านปีใหม่มาได้เพียงไม่กี่วันวัน ในวันที่ 3 มกราคม 2563 ก็มีข่าวใหญ่เรื่องพลตรีคัสเซม สุไลมานี่ (Qassem Soleimani) ผู้บัญชาการกองกำลังอิสลามพิทักษ์ชาติ (Islamic Revolutionary Guard Corps) หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (Quds Force) ของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ถูกสังหารด้วยจรวดที่ยิงจากอากาศยานไร้คนขับ (Drones) ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ขณะเดินทางด้วยขบวนรถออกจากสนามบินนานาชาติในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก ทำให้ Ayatollah Ali Khamenei ผู้นำสูงสุดอิหร่านออกมาประกาศว่านี่คือการประกาศสงครามต่ออิหร่านและจะต้องมีการแก้แค้นตอบโต้ต่อสหรัฐฯ ทำให้ตลาดน้ำมันของโลกตอบสนองต่อข่าวนี้ในวันถัดมาด้วยราคาน้ำมันดิบที่ขยับขึ้นประมาณ 4% แต่ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบก็กลับลงมาเคลื่อนไหวในระดับปกติ เพราะยังไม่มีข่าวการตอบโต้ทำลายที่รุนแรงขึ้นระหว่างสองประเทศถึงขั้นเป็นสงคราม แต่นักวิเคราะห์ตลาดน้ำมันของโลกก็ยังกังวลว่าสถานการณ์จะพัฒนาเลวร้ายไปกว่านี้หรือไม่ เพราะอิหร่านเป็นชาติใหญ่ที่มีกำลังอำนาจทางทหารในอ่าวเปอร์เซีย มีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่สามารถควบคุม ขัดขวางหรือปิดทางเข้าออกช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) อันเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันและก๊าซ LNG ที่สำคัญมากในภูมิภาคตะวันออกกลางปริมาณเรือขนส่งน้ำมันดิบ แล่นผ่านด้วยมูลค่าน้ำมันกว่า 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ในแต่ละวันผมได้รับและอ่านบทความชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งของบริษัทวิเคราะห์สถานการณ์พลังงานที่ชื่อFGEเขียนโดย Dr. Fereidun Fesharaki ที่รู้จักประเทศไทยดี เคยมาพูดให้ความรู้เรื่องน้ำมันกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ท่านได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า รัฐบาลอิหร่านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ และจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันจากประชาชนในประเทศของตนภายหลังจากที่เมื่อประมาณสองเดือนก่อนหน้า เกิดการประท้วงของประชาชนของอิหร่านครั้งใหญ่ทั่วประเทศ จากการขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ซึ่งจากข่าวที่ปรากฏมีคนถูกฆ่าตายจากการประท้วงในอิหร่านครั้งนั้นถึง 1,500 คน และมีผู้ประท้วงถูกจับกุมกว่า 9,000 คนแม้อิหร่านจะตอบโต้ด้วยการยิงจรวดเข้าใส่ฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรักบางแห่ง แต่ก็เป็นการตอบโต้แบบเบาบางที่ไม่ได้ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของทหารอเมริกัน ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ ของสหรัฐฯ ยังได้ประกาศขู่ผู้นำอิหร่านด้วยว่า หากอิหร่านปฏิบัติการแก้แค้นที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสหรัฐฯ สหรัฐฯ ก็มีเป้าหมาย
ที่จะโจมตีถล่มระเบิดใส่เป้าหมายอีก 52 แห่งในอิหร่าน ซึ่งจะรวมถึงโรงกลั่นน้ำมันด้วย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง
จะทำให้เศรษฐกิจอิหร่านที่ถูกบอยคอตการค้าน้ำมันจากสหรัฐฯ อยู่แล้ว จะยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก เพราะขาดแคลนเชื้อเพลิง ประชาชนก็อาจลุกฮือขึ้นมาประท้วงได้อีก แต่หากผู้นำอิหร่านนิ่งเฉยไม่ตอบโต้สหรัฐฯ เลยก็จะยิ่งเสื่อมความนิยมเชื่อถือจากฐานเสียงหัวรุนแรงที่มีอยู่ประมาณ 20-30% ของประชากรอิหร่านเอง
ดังนั้น หากสถานการณ์พัฒนาไปทางเลวร้ายด้วยการที่อิหร่านตัดสินใจใช้มาตรการทางทหารตอบโต้สหรัฐฯ
ที่ทำให้เกิดการสูญเสียที่สหรัฐฯ รับไม่ได้ และตอบโต้กลับถึงขั้นเป็นสงครามเต็มรูปแบบ รวมถึงหากอิหร่านขยายเป้าหมายของการแก้แค้นเพิ่มจากสหรัฐฯ ไปยังซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
และอิสราเอลด้วยแล้ว แน่นอนว่าตลาดน้ำมันในตะวันออกกลางจะเกิดความปั่นป่วนมาก เพราะหากช่องแคบฮอร์มุส ถูกอิหร่านขัดขวางหรือปิดลง ก็จะกระทบต่อการลำเลียงขนส่งน้ำมันดิบจากคูเวตและ UAE รวมทั้งการลำเลียงขนส่งก๊าซ LNG จากกาตาร์ ซึ่งต้องผ่านเส้นทางนี้ และย่อมจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบที่แกว่งตัวแพงขึ้นมากอันจะทำให้ประเทศมหาอำนาจไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้
อย่างไรก็ตาม Dr. Fesharaki เชื่อว่า อิหร่านคงไม่ยกระดับปฏิบัติการล้างแค้นสหรัฐฯ ไปจนถึงขั้นปิดช่องแคบฮอร์มุซ เพราะอิหร่านมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกาตาร์ และกับรัฐดูไบใน UAE รวมทั้งเป็นมิตรกับโอมานที่เป็น
ผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ในตะวันออกกลางด้วย และคงไม่อยากเปิดสงครามเต็มรูปแบบกับสหรัฐฯ ที่จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้กับตนมากไปกว่านี้ ฉะนั้นระยะอันใกล้ การขนส่งทั้งน้ำมันดิบและก๊าซ LNG
ผ่านช่องแคบนี้ จะไม่สะดุดหยุดลง และคงจะไม่มีผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมากนัก เว้นเสียแต่ผู้นำอิหร่านและผู้นำสหรัฐฯ จะตัดสินใจยกระดับความรุนแรงจนถึงขั้นเป็นสงครามเต็มรูปแบบ
โดย ดร.คุรุจิต นาครทรรพ
ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
อดีตประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน สปท.
14 มกราคม 2563
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/3et5A98