กบง.ทำเกินอำนาจจริงหรือเปล่า?

0
398
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเมื่อ 30 ส.ค. 62 ให้ยกเลิกการประมูลนำเข้า LNG ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในรูปแบบของสัญญาระยะยาว 7 ปี ปีละ 1.5 ล้านตัน โดยให้เปลี่ยนมาเป็นนำเข้าแบบตลาดจร (Spot) 2 แสนตัน เพื่อเป็นการทดลองความพร้อมในการที่จะเปิดเสรีการนำเข้า LNG และการใช้ท่อก๊าซของปตท.ในระบบ TPA

 

ปรากฏว่ามติดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยได้มีผู้กล่าวหาว่าเป็นมติที่มีเรื่องของผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ของปตท.ในฐานะที่เป็นผู้ผูกขาดธุรกิจก๊าซทั้งระบบ ตั้งแต่การรับซื้อก๊าซทั้งจากผู้ผลิตในประเทศและการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ รวมไปถึงธุรกิจท่อส่งก๊าซ และการจำหน่ายก๊าซในประเทศ ให้กับผู้ใช้รายใหญ่อย่างเช่น กฟผ. และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่างๆ

 

จากการที่ปตท.เป็นผู้ผูกขาดธุรกิจก๊าซดังกล่าว ทำให้ปตท.สามารถไปทำสัญญาซื้อขายก๊าซจากแหล่งต่างๆได้ในปริมาณมาก และเป็นการทำสัญญาระยะยาว 15-20 ปี โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย หรือ Take or Pay

 

ดังนั้นการที่กบง.มีมติดังกล่าวจึงเป็นมติที่รักษาผลประโยชน์ให้ปตท. เพราะถ้าปล่อยให้กฟผ.นำเข้าได้ ก๊าซที่ปตท.ไปทำสัญญาเอาไว้ก็อาจไม่สามารถรับได้ตามสัญญา ซึ่งจะทำให้ต้องเสียค่า take or pay ผู้วิจารณ์จึงมีความเห็นว่ากบง.ทำเกินหน้าที่เพราะไปรักษาผลประโยชน์ของผู้ค้ามากกว่าผู้ใช้ไฟรายใหญ่ เพราะถ้ากฟผ.ประมูลซื้อก๊าซได้ถูกกว่าที่ซื้อจากปตท. จะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลง เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

 

เรื่องนี้ถ้าเราพิจารณาเผินๆ และฟังเหตุผลที่หยิบยกขึ้นมาโต้แย้งมติของกบง. ก็คงจะเห็นด้วยว่ามีเรื่องของผลประโยชน์ของสองหน่วยงานที่ขัดกันเป็นประเด็นสำคัญ แต่ถ้าพิจารณาให้รอบด้านเราจะพบว่า ประเด็นสำคัญกลับเป็นเรื่องของนโยบายพลังงานภาครัฐที่ต้องการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ในขณะดียวกันก็ต้องการลดการผูกขาดและส่งเสริมให้มีการเปิดเสรีในเรื่องของพลังงานมากขึ้น

 

เราต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมาจนปัจจุบัน รัฐได้มอบความไว้วางใจให้กับปตท.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านพลังงานของรัฐ ดูแลเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานมาโดยตลอด ดังนั้นปตท.จึงถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบในการจัดหาพลังงานให้พอเพียงกับความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของก๊าซธรรมชาติที่เป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อก๊าซ และคลังก๊าซให้เพียงพอกับความต้องการในอนาคต

 

ดังนั้นเราคงไม่สามารถจะไปกล่าวหาปตท.ได้ว่า ลงทุนพัฒนาและจัดหาพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจของตนเองเท่านั้น แต่เป็นการลงทุนตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ปตท.เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงด้านพลังงานภาครัฐ

 

ส่วนเรื่องการเปิดเสรีธุรกิจพลังงานเป็นเรื่องที่ตามมาในภายหลัง จึงจำเป็นต้องทำอย่างรอบคอบและเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสปรับตัว โดยเฉพาะผู้ที่ได้ลงทุนลงแรงไปก่อนหน้านี้อย่างมาก ถ้ารัฐเปลี่ยนนโยบายอย่างกะทันหัน ผู้ที่เจ็บตัวมากที่สุดคือผู้ที่ลงทุนโดยมีความเชื่อถือในนโยบายภาครัฐ สมควรที่รัฐจะต้องปกป้องในระดับหนึ่ง

 

ผมจึงไม่เห็นว่ามติกบง.ในเรื่องนี้จะเป็นการทำเกินอำนาจแต่อย่างใด !!!

 

มนูญ ศิริวรรณ
15 ก.ย. 62

สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/2NvqWa3